ความรู้สำหรับประชาชน
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยเงียบที่ควรรู้
  - ไวรัสตับอักเสบบีและซีกับมะเร็งตับ
  - มะเร็งปากมดลูกและวัคซีน
  - มะเร็งศีรษะและลำคอ
  - มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  - มะเร็งผิวหนัง
  - มะเร็งรังไข่
  - มะเร็งโพรงหลังจมูก
  - มะเร็งช่องปาก
  - มะเร็งต่อมไทรอยด์
  - มะเร็งกล่องเสียง
  - เนื้องอกสมอง
  - มะเร็งกระเพาะอาหาร
  - มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน
  - มะเร็งหลอดอาหาร
  - มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  - มะเร็งต่อมลูกหมาก
  - มะเร็งตับ
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
  - มะเร็งเต้านม
  - มะเร็งปอด
  - มะเร็งปากมดลูก
 
ความรู้โรคมะเร็ง
 
 
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
 
     
 
วันที่ 19 เดือนมกราคม พ.ศ.2552
 
     
 
          กระเพาะปัสสาวะมีลักษณะเป็นถุงสำหรับเก็บน้ำปัสสาวะ มีตำแหน่งอยู่ที่ในช่องท้องระดับหัวเหน่า กระเพาะปัสสาวะมีหน้าที่รับน้ำปัสสาวะที่ไตกรองออกมาจากกระแสเลือด แล้วส่งผ่านลงมาทางท่อไตลงมาเก็บในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อมีปริมาณน้ำปัสสาวะมากพอสมควรกระเพาะปัสสาวะจะขับน้ำปัสสาวะออกทิ้งทางท่อปัสสาวะต่อไป
 
          ในประเทศไทย มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นมะเร็งที่พบมาก 1 ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบมากในเพศชาย โดยพบมากในช่วงอายุ 50-70 ปี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะมีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกขึ้นมา ก้อนเนื้อที่งอกขึ้นมานี้จะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจโตเต็มกระเพาะปัสสาวะ และแผ่ขยายลุกลามออกไปยังอวัยวะและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงได้หากไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง
 
สาเหตุ :
          พบอุบัติการณ์สูงในคนที่สูบบุหรี่ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสีย้อมผ้า สีย้อมไม้ สีย้อมหนังที่มีสารเคมีบางชนิด เช่น สีอะนีลีน (aniline) หรือสารพวกไฮโดรคาร์บอน และผู้บริโภคขัณทสกร นอกจากนี้การระคายเคืองและการอักเสบเนื่องจากก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะก็เป็นสาเหตุชักนำให้เกิดโรคนี้ได้
     
อาการแสดง :
          75 % ของผู้ป่วย มีอาการปัสสาวะเป็นเลือดโดยไม่มีอาการเจ็บปวด ผู้ป่วยบางรายอาจมีเพียงเลือดหยดออกมาเมื่อปัสสาวะสุด บางครั้งจะมีอาการคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ ถ่ายปัสสาวะบ่อย แสบ หรือ ขัดเนื่องจากเลือดที่ออกจับตัวเป็นลิ่ม มีปัสสาวะมีเลือดปนเป็นครั้งเป็นคราวอยู่เป็นระยะเวลานาน ส่วนในระยะลุกลามจะมีอาการปวดและบางรายมีการอุดตันของท่อไตทำให้มีอาการของภาวะไตวายและปวดหลังได้ด้วย
     
วิธีวินิจฉัยโรค :
          การตรวจวินิจฉัยมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ ทำได้หลายวิธี เช่น การซักประวัติและการตรวจร่างกายคลำได้ก้อนเนื้อบริเวณหัวเหน่า การใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักและการตรวจปัสสาวะพบมีเม็ดเลือดหรือพบ เซลล์มะเร็งปะปนอยู่ และเมื่อสงสัยควรได้รับการตรวจโดยการส่องกล้องขนาดเล็ก สอดผ่านท่อปัสสาวะ เข้าไปสำรวจภายในกระเพาะปัสสาวะ และขลิบเอาเนื้อที่สงสัยมาทำการพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีความจำเป็นต้องตรวจด้วยการถ่ายภาพ ทางรังสีกระเพาะปัสสาวะ หรือเครื่องตรวจอย่างอื่น เช่น เครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก หรือ ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นต้น
   
วิธีการรักษา :
          วิธีการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะทำได้หลายวิธี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา และการแพร่กระจายของโรครวมทั้งการอุดตันของท่อไต
          • กรณีโรคมะเร็งเป็นอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ การรักษาอาจทำได้โดยการสอดเครื่องมือเล็ก ๆ เข้าไปทางท่อปัสสาวะแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าจี้ที่ก้อนมะเร็ง ซึ่งทำลายก้อนมะเร็งให้หมดไปได้ ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจป้องกันไม่ให้โรค กลับเป็นใหม่ ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดใส่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ แล้วกักเก็บไว้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง แล้วจึงถ่ายทิ้ง
 
          • กรณีมีการลุกลามไปถึงผนังของกระเพาะปัสสาวะ การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อที่เป็นออกไปจากกระเพาะปัสสาวะแล้วเย็บผนังของกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยจะยังคงปัสสาวะได้เป็นปกติ
          • กรณีที่โรคลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงแล้ว จะรักษาโดยการผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะพร้อมกับอวัยวะข้างเคียง ส่วนที่มีโรคลุกลามไปออกจนหมด และตัดเอาบางส่วนของลำไส้มาดัดแปลงเป็นกระเพาะปัสสาวะให้ใหม่ ผู้ป่วยจะยังคงถ่ายปัสสาวะได้ทางปลายลำไส้ที่นำมาเปิดออกทางหน้าท้อง
          • กรณีที่ไม่อาจให้การรักษาได้ด้วยการผ่าตัด สามารถทำการรักษาได้ด้วยการฉายรังสีรักษา ส่วนในกรณีที่โรคได้แพร่กระจายเข้าไปในกระแสเลือดแล้ว สามารถให้การรักษาได้ด้วยการฉีดยาเคมีบำบัด
   
วิธีการป้องกัน :
          1. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ก่อนนอน เพราะจะมีการคั่งค้างของสารก่อมะเร็งอยู่ใน กระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน
          2. ควรตรวจปัสสาวะเมื่อมีอาการผิดปกติของปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย ขัด ขุ่น โดยเฉพาะเมื่อมีเลือดปนออกมาในปัสสาวะ
 
กลับสู่ด้านบน
 
 
     
Untitled Document

   
      Best view 1024 x 768 pixel for Internet Explorer © หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
    ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร 0-7445-1595 โทรสาร 0-7445-1595 
ติชมได้ที่นี่ : pparadee@medicine.psu.ac.th