ความรู้สำหรับประชาชน
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยเงียบที่ควรรู้
  - ไวรัสตับอักเสบบีและซีกับมะเร็งตับ
  - มะเร็งปากมดลูกและวัคซีน
  - มะเร็งศีรษะและลำคอ
  - มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  - มะเร็งผิวหนัง
  - มะเร็งรังไข่
  - มะเร็งโพรงหลังจมูก
  - มะเร็งช่องปาก
  - มะเร็งต่อมไทรอยด์
  - มะเร็งกล่องเสียง
  - เนื้องอกสมอง
  - มะเร็งกระเพาะอาหาร
  - มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน
  - มะเร็งหลอดอาหาร
  - มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  - มะเร็งต่อมลูกหมาก
  - มะเร็งตับ
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
  - มะเร็งเต้านม
  - มะเร็งปอด
  - มะเร็งปากมดลูก
 
ความรู้โรคมะเร็ง
 
 
มะเร็งเต้านม
 
     
 
วันที่ 19 เดือนมกราคม พ.ศ.2552
 
     
 
          มะเร็งเต้านม  มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทยรองจากมะเร็งปากมดลูก อุบัติการณ์ที่พบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงอายุ 40 ปี ขึ้นไป มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ผลการรักษาดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวินิจฉัยได้ในระยะเริ่มแรก การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเอง หรือโดยการถ่ายภาพรังสี หรือที่เรียกว่าแมมโมแกรมมีความสำคัญในการค้นหาโรคระยะแรกก่อนที่จะมีการแพร่กระจายลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่นๆ
สาเหตุของมะเร็งเต้านม :
          สาเหตุของมะเร็งเต้านม เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การรับประทานอาหารประเภทไขมันสูง และฮอร์โมนเพศหญิง
 
ลักษณะของโรค :
          เริ่มด้วยการมีก้อนเล็ก ๆ ที่เต้านม มักไม่มีอาการเจ็บปวด บวม หรืออักเสบ ก้อนจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาอาจคลำพบก้อน เต้านมมีรูปร่างผิดปกติ ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะหยาบและขรุขระ มีการดึงรั้งของหัวนม ในบางรายเมื่อบีบหัวนมจะมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลซึม
                  
 
ใครที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม :
          เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อย, หมดประจำเดือนเมื่ออายุมาก, ไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี, มีแม่ พี่น้อง หรือลูก เป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 50 ปี, การใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุน้อยและใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน, การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือน จะเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติเล็กน้อย ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานาน ควรจะรับการตรวจเอกซเรย์เต้านม หรือที่เรียกว่าการทำแมมโมแกรมทุกปี
 
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม :
          มีวิธีการต่างๆ มากมายเพื่อช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านม การเอ็กซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรมและการตรวจอัลตร้าซาวน์ (การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง) มีประโยชน์มากในการวินิจฉัยและการรักษา โดยเฉพาะก้อนที่มีขนาดเล็ก คลำไม่ได้ หรืออยู่ลึกในเนื้อเต้านมคลำได้ไม่ชัดเจน
          เมื่อวินิจฉัยได้แล้วควรมีการวินิจฉัยระยะโรคเพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง โดยต้องประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งที่ไปต่อมน้ำเหลือง ปอด ตับ และกระดูก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีทรวงอก ตรวจอัลตร้าซาวน์ตับ และตรวจกระดูกชนิดสแกนด้วยเภสัชรังสี
 
วิธีการรักษามะเร็งเต้านม :
          การรักษามะเร็งเต้านมเป็นการรักษาผสมผสานกันระหว่างการผ่าตัด การฉายรังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัด การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายทำให้ผลการรักษาดี ผู้ป่วยมีอายุยืนยาว แพทย์ผู้รักษาจำเป็นต้องเลือกวิธีการและลำดับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
 
          รักษาด้วยการผ่าตัด
          การผ่าตัดรักษาที่ใช้ในทางปฏิบัติมี 2 วิธี คือ
          1. การผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน หมายถึง การตัดก้อนมะเร็ง รวมทั้งเนื้อเต้านมที่ดีที่หุ้มรอบมะเร็งออกด้วยร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก ถ้ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง การผ่าตัดโดยวิธีนี้ต้องฉายรังสีบริเวณเต้านมภายหลังการผ่าตัดทุกรายเพื่อลดโอกาสกลับเป็นใหม่ของมะเร็ง ผลการผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้ผลดีพอ ๆ กับการตัดเต้านมออกทั้งเต้า
          2. การตัดเต้านมออกโดยวิธีมาตรฐาน คือ การตัดเนื้อเต้านมทั้งหมดร่วมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก แพทย์จะผ่าตัดด้วยวิธีนี้ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่าวิธีแรก
 
          การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก
          เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยระยะโรค ซึ่งจะช่วยในการวางแผนการรักษาและพยากรณ์โรคของผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกเพื่อนำมาตรวจหาการแพร่กระจายของเซลมะเร็ง
 
          การรักษาเสริม
          ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดบางกรณีจำเป็นต้องได้รับการรักษาเสริมเพื่อหวังผลให้หายหรือมีชีวิตยืนยาวขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การรักษาเสริมประกอบด้วยการฉายรังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด และการให้ฮอร์โมนรักษา ซึ่งการรักษาแบบผสมผสานดังกล่าวเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี อันจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคหรือมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้
 
วิธีการป้องกันมะเร็งเต้านม :
          เนื่องจากการดำเนินของโรคมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติในระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างที่ต้องทำการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก การค้นพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ และการรักษาอาจทำได้โดยการตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออกไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทั้งเต้านม ในทางตรงกันข้ามหากไม่มีการตรวจค้นหามะเร็งเต้านม โดยรอจนกระทั่งมีอาการผิดปกติมะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้ว และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
 
ความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม :
          จุดมุ่งหมายของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ก็เพื่อที่จะสามารถตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อการรักษา ทำให้อัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยมีเพิ่มขึ้น และการกลับเป็นใหม่ของโรคลดลง
 
    การตรวจค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นทำได้ดังนี้
   
          1. การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธีเดือนละครั้ง หลังจากประจำเดือนหมดไปแล้วประมาณ 3 วัน เป็นวิธีที่ง่าย ประหยัด ใช้ได้กับทุกวัย หากมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองโดยถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถตรวจพบก้อนได้ตั้งแต่ยังมีขนาดไม่โตมากนักซึ่งการรักษาจะได้ผลดี บางท่านอาจคิดว่าการตรวจร่างกายด้วยตนเองไม่มีความสำคัญเนื่องจากมีการตรวจด้วยแมมโมแกรมแล้ว แต่ในความเป็นจริงเนื้องอกบางชนิดอาจไม่ปรากฏให้เห็นได้ชัดในภาพรังสี แต่สามารถคลำได้ด้วยการตรวจร่างกายด้วยตนเองและควรร่วมกับการตรวจยืนยันอีกครั้งโดยแพทย์ หรือในกรณีที่การตรวจด้วยตนเองแล้วสงสัยหรือไม่แน่ใจ แนะนำให้มาตรวจโดยแพทย์ซ้ำซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก
          2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้ชำนาญ ปีละครั้ง ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
          3. การตรวจเอกซเรย์เต้านม หรือที่เรียกว่าแมมโมแกรม ปีละครั้งตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
 
 
     
 
กลับสู่ด้านบน
 
 
     
Untitled Document

   
      Best view 1024 x 768 pixel for Internet Explorer © หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
    ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร 0-7445-1595 โทรสาร 0-7445-1595 
ติชมได้ที่นี่ : pparadee@medicine.psu.ac.th