ความรู้สำหรับประชาชน
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยเงียบที่ควรรู้
  - ไวรัสตับอักเสบบีและซีกับมะเร็งตับ
  - มะเร็งปากมดลูกและวัคซีน
  - มะเร็งศีรษะและลำคอ
  - มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  - มะเร็งผิวหนัง
  - มะเร็งรังไข่
  - มะเร็งโพรงหลังจมูก
  - มะเร็งช่องปาก
  - มะเร็งต่อมไทรอยด์
  - มะเร็งกล่องเสียง
  - เนื้องอกสมอง
  - มะเร็งกระเพาะอาหาร
  - มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน
  - มะเร็งหลอดอาหาร
  - มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  - มะเร็งต่อมลูกหมาก
  - มะเร็งตับ
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
  - มะเร็งเต้านม
  - มะเร็งปอด
  - มะเร็งปากมดลูก
 
ความรู้โรคมะเร็ง
 
 
มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
 
     
 
วันที่ 19 เดือนมกราคม พ.ศ.2552
 
     
 
 
          มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เป็นมะเร็งที่พบมากทั้งในเพศชายและเพศหญิงเป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้มีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตผิดปกติ โดยพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
   
สาเหตุ :
         สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่พบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในโครโมโซมของเซลล์เยื่อบุลำไส้ ซึ่งเกิดจากสาเหตุส่งเสริมต่าง ๆ กัน คือ
         1. มีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ส่วนมากเป็นมาแต่กำเนิด เมื่ออายุมากขึ้นจะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้
         2. ประวัติมะเร็ง ถ้าผู้ป่วยเคยมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ มดลูก เต้านม หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงได้มากกว่าคนปกติ
         3. การอักเสบเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งได้
         4. อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีสีแดงและมีไขมันสูง
         5. ท้องผูก ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ทำให้ของเสียหรือสารก่อมะเร็งค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน
 
อาการแสดง :
         ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงความผิดปกติของการขับถ่ายอุจจาระ คือ มักจะมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเก่า ๆ ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระมีขนาดเล็กหรือบางลง ซีด อ่อนเพลีย บางรายอาจจะมาด้วยอาการลำไส้อุดตัน น้ำหนักลดลงมากผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ และปวดเบ่งบริเวณทวารหนัก
 
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง :
         สามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยขั้นตอนการตรวจ ดังนี้ การตรวจหาเลือดในอุจจาระ การตรวจทวารหนัก การตรวจเอกซเรย์ลำไส้ด้วยสารทึบแสง และการส่องกล้องตรวจลำไส้และตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์
 
วิธีการตรวจค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงในระยะแรก :
         ถึงแม้ว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงจะพบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของมะเร็งก็ตาม แต่ก็สามารถทำการตรวจค้นหาได้ตั้งแต่ในระยะแรกซึ่งจะมีผลการรักษาที่ดีมาก ประชาชนจึงควรมารับการตรวจค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยการ ตรวจหาเลือดในอุจจาระในผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นประจำทุกปี สำหรับผู้ที่มีประวัติญาติใกล้ชิด เช่น บิดา มารดา พี่ น้อง เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง หรือเคยเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงในลำไส้ ควรรับการส่องกล้องตรวจลำไส้เป็นประจำทุก 1 - 10 ปี
 
วิธีการรักษา :
         วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสภาวะร่างกายของผู้ป่วย โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยในระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัด การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มี 3 วิธี คือ
         - การผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาหลัก โดยการตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งรวมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออกจากนั้นนำลำไส้ส่วนที่ดีมาต่อกัน ส่วนมะเร็งลำไส้ตรงที่อยู่ใกล้ทวารหนักอาจจำเป็นต้องตัดทวารหนักออก และทำทวารเทียมในบริเวณหน้าท้องของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระผ่านทางหน้าท้องและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
         - การให้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งลุกลามสู่อวัยวะข้างเคียง หรือมีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลือง จำเป็นต้องได้รับเคมีบำบัดหลังจากการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสของการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง
         - การฉายรังสีรักษา ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ตรงและทวารหนักบางรายอาจจะให้การรักษาด้วยรังสีรักษาก่อนหรือหลังการผ่าตัด
 
วิธีติดตามผลการรักษา
         การติดตามผลการรักษานอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว แนะนำให้เจาะเลือดเพื่อหาระดับสารบ่งชี้มะเร็งในเลือด คือ carcinoembryonic antigen (CEA) การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ รวมถึงการถ่ายภาพรังสีปอดและตรวจตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง(อัลตร้าซาวน์) อย่างสม่ำเสมอ
   
วิธีการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง : สามารถป้องกันได้โดย
         1. ควรรับประทานอาหารครบทุกหมู่ และควบคุมระบบขับถ่ายให้ถูกต้อง
         2. รับประทานผัก ผลไม้เป็นประจำ
         3. หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ส่วนที่ไหม้เกรียม จากการปิ้ง ย่าง ทอด รมควัน
         4. ลดอาหารประเภทไขมันสูง
         5. ผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป ควรได้รับการตรวจหาเลือดในอุจจาระทุกปี หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 10 ปี
         6. ผู้ที่มีบิดา มารดา ญาติพี่น้อง เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง หรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ทุก 1 - 10 ปี
   
         มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นการตรวจเพื่อค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงจึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งสามารถทำได้ง่าย รวมทั้งปฏิบัติตัวเพื่อเป็นการป้องกันโรค หากพบความผิดปกติของระบบขับถ่ายควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป
 
 
   
กลับสู่ด้านบน
   
 
     
Untitled Document

   
      Best view 1024 x 768 pixel for Internet Explorer © หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
    ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร 0-7445-1595 โทรสาร 0-7445-1595 
ติชมได้ที่นี่ : pparadee@medicine.psu.ac.th