ความรู้สำหรับประชาชน
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยเงียบที่ควรรู้
  - ไวรัสตับอักเสบบีและซีกับมะเร็งตับ
  - มะเร็งปากมดลูกและวัคซีน
  - มะเร็งศีรษะและลำคอ
  - มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  - มะเร็งผิวหนัง
  - มะเร็งรังไข่
  - มะเร็งโพรงหลังจมูก
  - มะเร็งช่องปาก
  - มะเร็งต่อมไทรอยด์
  - มะเร็งกล่องเสียง
  - เนื้องอกสมอง
  - มะเร็งกระเพาะอาหาร
  - มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน
  - มะเร็งหลอดอาหาร
  - มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  - มะเร็งต่อมลูกหมาก
  - มะเร็งตับ
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
  - มะเร็งเต้านม
  - มะเร็งปอด
  - มะเร็งปากมดลูก
 
ความรู้โรคมะเร็ง
 
 
มะเร็งตับ
 
     
 
วันที่ 19 เดือนมกราคม พ.ศ.2552
 
     
 
          มะเร็งตับ  เป็นโรคมะเร็งที่รุนแรงชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของมะเร็งในผู้ชายไทย มะเร็งตับพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2 เท่าขึ้นไป โรคมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ โรคมะเร็งของเซลล์ตับ และโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งโรคมะเร็งท่อน้ำดี จะพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ การรักษาโรคมะเร็งตับยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร มีอัตราการรอดชีวิตต่ำมาก
          
 
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็งตับ :
         1. ไวรัสตับอักเสบ
         ส่วนใหญ่ร้อยละ 75-80 ของผู้ป่วยมะเร็งตับเกิดในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีร้อยละ 50-55 และติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ร้อยละ 25-30 โดยผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูงมากกว่าคนที่ไม่เป็นพาหะ ถึง 100-400 เท่า
         2. เป็นโรคตับแข็ง
         3. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
         มีการศึกษาพบว่าถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 41-80 กรัมต่อวัน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ 1.5 เท่า และถ้าดื่มมากกว่า 80 กรัมต่อวัน จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเป็น 7.3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้อยกว่า 40 กรัมต่อวัน และความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับจะไม่ลดลงแม้ว่าจะหยุดดื่มแล้วก็ตาม
         4. สารอัลฟลาท็อกซิน Aflatoxin
         ซึ่งเกิดจากเชื้อราบางชนิด พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง เป็นต้น ผู้ที่ตรวจพบว่ามีสารอัลฟลาท็อกซิน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ 5.0-9.1 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ตรวจไม่พบสารดังกล่าวในร่างกาย
 
ผู้ใดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ
         กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งตับ คือ
         1. ผู้ป่วยโรคตับแข็งทั้งเพศหญิงและชาย ซึ่งมีอัตราการเกิดมะเร็งตับสูงถึง 1-4 %ต่อปี
         2. ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกคลอดหรือวัยเด็ก และยังไม่มีโรคตับแข็ง แต่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูงในเพศชาย อายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ
         3. ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว
          การตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งตับไม่แนะนำสำหรับประชากรทั่วไปเนื่องจากมีอัตราการเกิดมะเร็งตับต่ำมาก เพียงประมาณ 0.0005 % ต่อปี เท่านั้น
 
วิธีการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยมะเร็งตับ
          วิธีการตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งตับ ทำได้โดย
          - ตรวจเลือดหาค่า Alfa-fetoprotein (AFP)
          - การทำอัลตร้าซาวน์ตับ
ควรตรวจคัดกรองมะเร็งตับบ่อยเพียงใด
          ควรตรวจทุก ๆ 6 เดือน
 
วิธีการรักษามะเร็งตับ

          แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่
          1. การรักษาเพื่อหวังผลหายขาด ได้แก่ การรักษาด้วยการทำผ่าตัดหรือการเปลี่ยนตับใหม่ การรักษามะเร็งตับที่หวังผลหายขาด คือ การผ่าตัด แต่มีประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่เหมาะสมต่อการผ่าตัดรักษา

   
การปลูกถ่ายตับ หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับใหม่สำหรับมะเร็งตับ
          เกณฑ์กำหนดผู้ป่วยที่เหมาะสมต่อการปลูกถ่ายตับ คือ
          1. ก้อนมะเร็งขนาดเล็กกว่า 5 เซ็นติเมตร
          2. จำนวนก้อนมะเร็งมีจำนวนไม่เกิน 3 ก้อน และแต่ละก้อนมีขนาดเล็กกว่า 3 เซ็นติเมตร และทั้งหมดอยู่ในกลีบตับข้างเดียวกัน
          3. ไม่มีการลุกลามไปยังเส้นเลือด
          4. ไม่มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น
 
          2. การรักษาแบบประคับประคอง เพื่อช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยให้ยืนยาวออกไป ได้แก่ การสอดสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงก้อนมะเร็งร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด หรือการฉีด ethanol หรือacetic acid เข้าไปที่ก้อนมะเร็ง รวมถึงวิธีการใช้ความร้อนทำลายก้อนมะเร็ง
กลับสู่ด้านบน
     
 มะเร็งท่อน้ำดี
     
          ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี คือ การมีพยาธิใบไม้ในตับโดยเฉพาะในภาคอีสานจากพฤติกรรมการกินอาหารดิบ ๆ ทำให้ประชากรมีพยาธิใบไม้ในตับมาก จึงมีอัตราการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีสูงกว่าภาคอื่น ๆ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีตับมาพบแพทย์เมื่อมีอาการและระยะของโรคมากแล้วหรือรุนแรงแล้ว
     
อาการของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี
          - ปวดท้องที่ชายโครงขวา และอาจร้าวไปที่ไหล่หรือหลัง
          - ส่วนใหญ่จะมีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดร่วมด้วย
          - ตรวจร่างกายมักพบตับโต
          - อาการตัวเหลืองตาเหลืองซึ่งเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำดี
          - มักมีอาการคันและอุจจาระสีซีด
          - มีอาการไข้และเจ็บชายโครงขวา ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น
 
การวินิจฉัยมะเร็งท่อน้ำดี    ตรวจตับโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องตรวจด้วย
คลื่นสนามแม่เหล็ก การตรวจโดยการส่องกล้องและฉีดสีดูท่อน้ำดี และเอาชิ้นเนื้อจากท่อน้ำดีมาตรวจ
 
แนวทางการรักษามะเร็งท่อน้ำดี
          - การผ่าตัดที่หวังผลให้หายขาด โดยมีเป้าหมายคือการเอารอยโรคออกทั้งหมดร่วมกับการแก้ไขภาวะทางเดินน้ำดี
อุดตัน 
          - การใส่ท่อระบายน้ำดี ในผู้ป่วยที่โรคอยู่ในขั้นลุกลามควรได้รับการระบายน้ำดี
          การรักษามะเร็งท่อน้ำดีผ่านกล้องส่องตรวจท่อน้ำดีและตับอ่อน โดยการใส่ท่อระบายน้ำดี จะทำในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกออกได้ หรือผู้ป่วยไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ หรือผู้ป่วยปฏิเสธการผ่าตัด เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันและอาการตัวเหลือง การใช้ท่อโลหะจะมีการอุดตันช้ากว่าการใช้ท่อพลาสติก โดยท่อพลาสติกจะอุดตันภายในเวลาประมาณ 3-4 เดือน ส่วนท่อโลหะจะอุดตันภายในเวลาประมาณ 6-9 เดือน แต่จะใช้ชนิดใดนั้นแพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย
     
แนวทางการตรวจติดตามผลการรักษา      โดยการทำ อัลตร้าซาวน์ หรือ ทำ CT ทุก 3 เดือน
 
การป้องกันมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี
          1. ให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบ ชนิดบีในเด็กแรกเกิดทุกคน
          2. ป้องกันการติดพยาธิใบไม้ในตับ การไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกแล้ว และรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับ
          3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง ได้แก่ อาหารที่มีราขึ้นชึ่งอาจจะลดความเสี่ยงลงได้
          4. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจำนวนมากเป็นประจำและงดการสูบบุหรี่
          5. ผู้ป่วยที่มีโรคตับเรื้อรัง หรือมีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ ควรได้รับการตรวจหามะเร็งอย่างสม่ำเสมอเพื่อสามารถจะรักษาโรคได้ในระยะต้นที่ยังไม่แสดงอาการ
 
 
กลับสู่ด้านบน
 
 
     
Untitled Document

   
      Best view 1024 x 768 pixel for Internet Explorer © หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
    ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร 0-7445-1595 โทรสาร 0-7445-1595 
ติชมได้ที่นี่ : pparadee@medicine.psu.ac.th