อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
 
 
อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง
 
     
 
วันที่ 21 เดือนมกราคม พ.ศ.2552
 
     
 
          การรักษาโรคมะเร็ง ในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก มีทั้งยาและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามากมาย แต่ภาวะการขาดอาหารจากโรคมะเร็งหรือผลข้างเคียงจากการรักษา ก็ยังเป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งมีทั้งการรับประทานไม่ได้ การเบื่ออาหาร การเปลี่ยนแปลงของการรับรสและการกลืน เมื่อร่างกายขาดอาหารอย่างรุนแรง น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ขาดภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนได้
     
ปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลงมีดังนี้
          1. อาการเบื่ออาหาร มักพบได้เสมอในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีและเคมีบำบัด แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษาครบแล้ว
          2. การรับรสเปลี่ยนไป อาจรู้สึกขมในปากตลอดจนการรับรสต่าง ๆ ผิดไปจากเดิม สาเหตุจากเยื่อบุในช่องปากและต่อมรับรสถูกรบกวนจากการรักษา
          3. อาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน ท้องผูก มักพบบ่อยในช่วงแรก ๆ ของการรักษาด้วยเคมีบำบัด และการฉายรังสี หลังจากได้รับการรักษาครบแล้ว อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 6-8 สัปดาห์
          4. ความเจ็บปวด ปวดท้อง แน่นท้อง มีทั้งเกิดจากโรคเอง และผลข้างเคียงของการรักษา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ยาระงับความเจ็บปวดและยาช่วยในการย่อยอาหาร
          5. ความเชื่อในเรื่องอาหารแสลง หากมีความเชื่อว่าอาหารที่มีประโยชน์ และจำเป็นต่อร่างกายบางชนิด เป็นอาหารแสลงก็จะทำให้ยิ่งขาดอาหารได้
          6. อาการซึมเศร้า ท้อแท้ หมดกำลังใจ ก็ทำให้เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย รับประทานอาหารไม่ได้ ภาวะการขาดอาหารก็จะเป็นมากขึ้น สิ่งที่ควรทำคือ ต้องพยายามทำจิตใจให้เข้มแข็ง จัดหาสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุข ความสดชื่น เพื่อช่วยให้รับประทานได้มากขึ้น
 
การรับประทานอาหารที่พอเหมาะคือ ต้องได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ
          วันหนึ่ง ๆ ควรจะรับประทานอาหารมากน้อยเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนและในแต่ละวันจะไม่เท่ากัน เช่น ในระหว่างการรักษาร่างกายจะต้องการอาหารมากกว่าช่วงที่ทำการรักษาเสร็จแล้ว เนื่องจากอาหารถูกนำไปใช้เพื่อเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ ดังนั้นในระหว่างการรักษาควรพยายามรับประทานให้ได้มาก และเป็นอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อร่างกายจะไม่อ่อนเพลีย สามารถรับการรักษาต่อไปจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์
     
สำหรับข้อควรปฏิบัติในการรับประทานอาหารให้เพียงพอกับความต้องการ มีดังนี้
          1. ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง จากเดิม 2-3 มื้อ รับประทานเพิ่มเป็น 4 - 6 มื้อต่อวัน ควรรับประทานอาหารแม้จะไม่หิว และไม่ใช่มื้ออาหาร หลังอาหารทุกมื้อควรรับประทานผลไม้ ของหวาน หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
               ไม่ควรดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง
          2. ในผู้ป่วยที่มีอาการปวด การรับประทานอาหารในช่วงที่ทุเลาจากอาการปวด จะช่วยให้รับประทานอาหารได้ดีขึ้น
          3. ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารมัน เพราะจะช่วยให้การรับประทานอาหารง่ายขึ้น เช่น ไอศกรีม เยลลี่ วุ้น ลอดช่อง เป็นต้น
          4. ขณะรับประทาน ควรเคี้ยวช้า ๆ ให้ละเอียด เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร
          5. ควรรักษาความสะอาดช่องปากและฟัน โดยการบ้วนปากบ่อย ๆ ด้วยน้ำอุ่น หรือเติมเกลือเล็กน้อยก็ได้
          6. เลือกรับประทานอาหารที่ชอบ เปลี่ยนรายการอาหารบ่อย ๆ พยายามอย่าให้รายการอาหารซ้ำ
          7. จัดบรรยากาศให้รื่นรมย์ น่ารับประทาน มีการสังสรรค์ในหมู่ญาติ หรือเปลี่ยนแปลงบรรยากาศ ออกไปรับประทานนอกบ้านบ้าง เป็นบางครั้ง
          8. ถ้าได้รับยาแก้คลื่นไส้อาเจียนจากแพทย์ ควรรับประทานก่อนรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที และควรรับประทานยาแม้จะไม่มีอาการคลื่นไส้ก็ตาม เพราะจะได้ผลดีกว่ารอให้เกิดอาการจึงจะรับประทานยา
          
9. หากรู้สึกเบื่ออาหารมาก รับประทานอาหารไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาล เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ หรือให้ยาที่ทำให้เจริญอาหารหรือช่วยย่อยอาหาร
 
 
กลับสู่ด้านบน
 
 
     
Untitled Document

   
      Best view 1024 x 768 pixel for Internet Explorer © หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
    ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร 0-7445-1595 โทรสาร 0-7445-1595 
ติชมได้ที่นี่ : pparadee@medicine.psu.ac.th