ความรู้สำหรับประชาชน
  - การดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดทวารเทียม
  - การดูแลตนเองของผู้ที่มีทวารเทียม
  - เมื่อฉายแสงบริเวณศีรษะและคอ
  - การบริหารร่างกายหลังการผ่าตัดเต้านม
  - ทวารเทียม
  - การดูแลตนเองผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
  - การดูแลจิตใจของผู้ป่วยมะเร็ง
  - อาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง
  - ความเข้าใจเกี่ยวกับรังสีรักษา
 
การรักษาและดูแลผู้ป่วย
 
 
การดูแลตนเองผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
 
     
 
วันที่ 21 เดือนมกราคม พ.ศ.2552
 
     
 
          เคมีบำบัด คือ วิธีการรักษามะเร็งโดยการใช้ยาต้านโรคมะเร็ง ในการทำลายหรือควบคุมเซลมะเร็ง มะเร็งบางชนิดตอบสนองต่อการรักษาทางเคมีบำบัดดีจนสามารถทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็งได้ มะเร็งบางชนิดจะมีการตอบสนองต่อการรักษาทางเคมีบำบัดต่อเมื่อใช้ในการรักษาร่วมกับการผ่าตัดและการฉายรังสี โดยมีจุดหมายเพื่อกำจัดเซลมะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ภายในร่างกายโดยเฉพาะในเลือด และทางเดินน้ำเหลือง
 
 
          ยารักษาโรคมะเร็งมีหลายชนิด การเลือกใช้ก็จะขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเซลมะเร็ง อาจจะใช้เป็นขนานเดียวหรือรวมกันหลาย ๆ ขนานก็ได้ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งนี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของเซล ทั้งที่เป็นเซลปกติและเซลมะเร็ง ดังนั้น ยาจำพวกนี้จึงมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยด้วย
 
ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่พบบ่อย คือ
          1. อาการคลื่นไส้และอาเจียน อาจเกิดภายใน 1 – 6 ชั่วโมง หลังจากได้รับยา และส่วนใหญ่จะหายภายใน 36 ชั่วโมง ภายหลังเสร็จสิ้นการให้ยาเคมีบำบัด
          2. ไข้ หนาวสั่น อาจเกิดหลังจากให้ยาเคมีบำบัดทันทีถึง 6 ชั่วโมง และจะสิ้นสุดภายใน 24 ชั่วโมง
          3. อาการอ่อนเพลียไม่มีแรง อาจนานถึง 1 สัปดาห์ หรือนานกว่านี้
          4. ผมร่วง ซึ่งอาจเริ่มช่วงหลังจากให้ยาไปแล้ว 2 – 3 สัปดาห์
          5. มีความผิดปกติของเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดเลือดออกง่าย และมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย
          6. เกิดแผลในเยื่อบุช่องปาก
          7. มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ท้องผูก เป็นต้น
          8. ผู้ป่วยมีโอกาสการเป็นหมันชั่วคราว หรือถาวร หลังจากได้ยาเคมีบำบัด ดังนั้นจึงควรคุมกำเนิดในระหว่างที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัดและภายหลังจากการรักษาประมาณ 2 ปี เนื่องจากถ้าตั้งครรภ์ทารกอาจผิดปกติได้ สำหรับผู้ป่วยที่ยังต้องการมีบุตรให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มการรักษา
          9. มีโอกาสเกิดอาการชาตามปลายประสาทส่วนปลาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นหลังจากหยุดยาเคมีบำบัดไปแล้ว 4 – 6 สัปดาห์
 
ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด มีดังนี้
          1. ควรรับประทานอาหารที่ไม่ร้อนหรือเย็นจัดจนเกินไป
          2. ถ้าผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ ควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเหลวใสเย็น เช่น น้ำส้ม น้ำขิง วุ้น หรือเยลลี่
น้ำมะนาว โคลา น้ำชา โดยการจิบทีละน้อยแต่บ่อย ๆ หรือรับประทานอาหารประเภทขนมปังกรอบ
ขนมกรุบกรอบต่าง ๆ ควรรับประทานทีละน้อยเพื่อทำให้กระเพาะอาหารไม่พองตัวมากจนเกินไป และ
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร 1 – 2 ชั่วโมง ก่อนการให้ยาเคมีบำบัด
          3. ควรหลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เค็มจัด มันจัด อาหารที่มีกลิ่นฉุน
          4. ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกแล้ว เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากอาหาร
          5. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร (2,000 ซีซี) ขึ้นไป
           6. ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการฟังเพลง ดูรายการโทรทัศน์ อ่านหนังสือที่ชอบ พูดคุยเพื่อลด
ความเครียด
           7. กรณีที่ผู้ป่วยมีผมร่วงมาก อาจจะใส่ผมปลอม ใส่หมวกหรือโพกศีรษะ และเมื่อเสร็จสิ้นการ
รักษาแล้ว ผมจะขึ้นมาใหม่เหมือนเดิม หรืออาจจะดูดีกว่าเดิมก็ได้
           8. กรณีที่มีเลือดออกง่าย ให้ระวังอุบัติเหตุของมีคมต่าง ๆ ผู้ป่วยชายควรงดการโกนหนวด ผู้ป่วย
หญิงควรงดการทำเล็บ
           9. ดูแลสุขภาพปากด้วยการทำความสะอาดปาก และฟันด้วยแปรงสีฟันขนนิ่ม ๆ แปรงฟันเบา ๆ
หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำยาพันนิ้วมือเช็ดปากและฟัน บ้วนปากบ่อย ๆ ด้วยน้ำยาบ้วนปาก หรือน้ำเกลือ
           10. ชำระล้างอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกภายหลังการขับถ่ายทุกครั้ง เพื่อลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย
           11. ในกรณีที่มีอาการชาตามปลายประสาทส่วนปลาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรระมัดระวังการเกิด
อุบัติเหตุ เพราะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะทำให้การหยิบจับสิ่งของไม่สะดวก มีความรู้สึกช้าถ้าสัมผัส
ของร้อนจะเป็นอันตรายได้
           12. หากเกิดอาการท้องเสีย ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ฯ ดื่มน้ำมาก ๆ วันละ
อย่างน้อย 3,000 ซีซี โดยงดอาหารประเภทนม ผลไม้ ออกไปก่อนชั่วคราว
           13. เมื่อมีเม็ดเลือดขาวต่ำจากการได้รับยาเคมีบำบัด ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสกับ
บุคคลที่เป็นโรคติดต่อโรคติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด งดผักสดและผลไม้ที่
รับประทานทั้งเปลือก
           14. หากผู้ป่วยมีภาวะซีด ควรรับประทานอาหารที่มีเหล็กและโปรตีน เช่น ไข่ นม และผักใบเขียว
เนื้อสัตว์ เพื่อช่วยลดภาวะซีดและช่วยให้ร่างกายได้รับโปรตีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกัน
ป้องกันการติดเชื้อจากภายนอกอีกด้วย
 
อาการต่อไปนี้หากเกิดขึ้นควรรีบมาพบแพทย์
          • แขนข้างที่ให้ยาเคมีบำบัดมีอาการบวม แดง ร้อน แสบหรือดำคล้ำ
          • มีไข้สูง หนาวสั่น ซีดมาก อ่อนเพลีย มีแผลหรือมีเชื้อราในช่องปาก มีจ้ำเลือดตามตัว มีผื่นขึ้นตามตัว
          • คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ร่วมกับมีอาการท้องเสีย
          • ปัสสาวะมีเลือดปน เจ็บเวลาปัสสาวะ หรือปัสสาวะไม่ออกภายใน 8 ชั่วโมง
          • เยื่อบุช่องปากเป็นแผลและอักเสบรุนแรง
          • มีอาการหน้ามืด ใจสั่น หอบเหนื่อย รู้สึกจะเป็นลม
 
          หากปฏิบัติตัวดังกล่าวแล้ว อาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาเพิ่มเติมต่อไป
 
 
 
กลับสู่ด้านบน
 
 
     
Untitled Document

   
      Best view 1024 x 768 pixel for Internet Explorer © หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
    ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร 0-7445-1595 โทรสาร 0-7445-1595 
ติชมได้ที่นี่ : pparadee@medicine.psu.ac.th