ความรู้สำหรับประชาชน
  - โคอะไร ? อยู่ในเลือด
  - เล็กๆ น้อยๆ แต่มีคุณค่า
  - อาหารธรรมชาติ
  - เราจะทานเส้นใยได้มากอย่างไร
  - ผักผลไม้หลากสีป้องกันมะเร็ง
  - วิธีล้างผักให้สะอาด ลดสารพิษ
  - สารดีในผักและผลไม้
  - มีสิทธิ์กระดูกพรุน ถ้า...
  - ข้าวกล้อง อาหารธัญพืชครบส่วน
  - 6 วิธี เสริมภูมิต้านทานโรค
  - กินผัก ลดเค็ม
  - เคล็ดลับความแข็งแรง อายุยืน
  - เคล็ดลับเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ
  - หลักการกินอาหารให้มีสุขภาพดี
 
เคล็ดลับโภชนาการ
 
 
หลักการกินอาหารให้มีสุขภาพดี
 
     
 
วันที่ 02 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2552
 
     
 
ที่มา : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
         วัยทำงาน ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปถึง 60 ปี เป็นบุคคลที่ควรให้ความสำคัญในการบริโภคอาหารเป็นอย่างยิ่ง หลักในการบริโภคอาหารให้มีสุขภาพดี ควรปฏิบัติดังนี้
       
         1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่   คือ
         - คาร์โบไฮเดรต คือ อาหารที่ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย ทำให้เราสามารถเคลื่อนไหวทำงานได้อย่างปกติ ความต้องการของร่างกายในอาหารประเภทนี้ขึ้นอยู่กับ กิจกรรมของแต่ละบุคคล เช่น ถ้าทำงานมาก ร่างกายก็ต้องการอาหารประเภทนี้มาก คาร์โบไฮเดรต ได้แก่อาหารประเภทข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน ข้าวโพด เป็นต้น
       
         - โปรตีน คือ อาหารที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต อาหารในหมู่นี้ ได้แก่ อาหารประเภท เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไข่ ถั่ว นม เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ไก่ เป็ด ปลา กุ้ง นม ไข่ และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
 
         - ไขมัน คือ อาหารที่ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย ช่วยให้เราเคลื่อนไหวและมีกำลังทำงาน แต่ถ้ากินไขมันมากเกินไปจะทำให้เป็นโรคอ้วนได้ อาหารประเภทไขมัน เช่น น้ำมันหมู น้ำมันปลา น้ำมันหอย น้ำมันงา น้ำมันถั่ว น้ำมันมะพร้าว น้ำมันรำ กะทิ เป็นต้น
 
         - วิตามิน คือ อาหารประเภทผักใบสีเขียวและพืชอื่น ๆ ผักที่เรากินเป็นประจำมีทั้งดอก ใบ ผล และลำต้น ซึ่งแต่ละอย่างให้วิตามินและแร่ธาตุ อาหารในหมู่นี้ช่วยบำรุงสุขภาพทั่วไปให้ แข็งแรง บำรุงสุขภาพของผิวหนัง นัยน์ตา เหงือก และฟัน สร้างและบำรุงเลือด ช่วยให้ร่างกายใช้ประโยชน์จากอาหารอื่นได้อย่างเต็มที่ และยังช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีอีกด้วย วิตามินจะมีอยู่ในอาหาร เช่น ผักบุ้ง ตำลึง ผักกระถิน ผักคะน้า ผักกาด แตงกวา บวบ มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ฟักทอง เป็นต้น
       
         - เกลือแร่ อาหารหมู่นี้จะช่วยให้สุขภาพร่างกายสดชื่น ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ ผลไม้ต่าง ๆ โดยผลไม้ให้คุณค่าทางอาหารคล้ายกับผัก คือ มีแร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ แต่มีคาร์โบไฮเดรตสูงกว่าผักเพราะมีความหวาน ผลไม้ที่ให้วิตามินสูง ได้แก่ ส้ม กล้วย มะละกอ มะม่วง ฝรั่ง มะขามป้อม เป็นต้น
     
         โดยในแต่ละหมู่อาหารกินอาหารให้หลากหลายและให้มีการหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน และหมั่นดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้น้อยหรือมากจนเกินไป
       
         2. กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ควรกินข้าวกล้อง หรือ ข้าวซ้อมมือ ควบคู่ไปกับอาหารประเภทแป้ง
     
         3. กินพืช ผักให้มาก และกินผลไม้เป็นประจำ พยายามเลือกซื้อและบริโภคพืช ผัก และผลไม้ ตามฤดูกาล โดยพืชผักควรกินประมาณ วันละ 4-6 ทัพพี ส่วนผลไม้กินประมาณ 3-5 ส่วนต่อวัน (ผลไม้ 1 ส่วน เช่น กล้วยน้ำว้า 1 ผล, เงาะ 4 ผล, ส้ม 2 ผลกลาง, มะละกอ 10 คำ, ฝรั่ง 1 ผลเล็ก)
       
         4. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ ซึ่งให้โปรตีน โดยให้กินวันละ 6-12 ช้อนโต๊ะ สำหรับไข่ก็สามารถกินได้สัปดาห์ละ 2-3 ฟอง
   
         5. ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย ซึ่งวัยทำงานนี้ สามารถดื่มนมได้วันละ 1-2 แก้ว และสำหรับผู้สูงอายุให้ดื่มนมชนิดพร่องมันเนย
 
         6. กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร เพราะถ้าได้รับไขมันมากเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาไขมันในเลือดสูง และเป็นปัญหาโรคอ้วนได้ และถ้ากินพืชผักและผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย จะทำให้ไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดแดงได้ง่ายขึ้น จนเกิดการแข็งตัวนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจขาดเลือด
       
         7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัดและเค็มจัด เพราะจะทำให้เกิดโรคอ้วนและความดันโลหิตสูงได้
       
         8. กินอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน เช่น การปนเปื้อนของเชื้อโรค สารเคมีต่าง ๆ ใส่สีต้องห้าม มีเชื้อรา ใส่ดินประสิว อาหารปิ้งย่าง อาหารที่ทอดในน้ำมันทอดที่ซ้ำ ๆ กัน เพราะสิ่งปนเปื้อนต่างๆ เหล่านี้สามารถทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง หรืออาหารเป็นพิษ รวมทั้งอาจจะทำให้เกิดโรคพยาธิ และมะเร็งบางประเภทได้
 
         9. งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสารเสพติด และถ้าดื่มจนติดแล้ว จะทำให้ร่างกายขาดวิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งอาจจะเป็นโรคตับแข็งควบคู่ไปด้วย
       
         หลักในการกินอาหารทั้ง 9 ข้อนี้ ถ้าสามารถปฏิบัติได้ ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
   
 
กลับสู่ด้านบน
 
 
     
Untitled Document

   
      Best view 1024 x 768 pixel for Internet Explorer © หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
    ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร 0-7445-1595 โทรสาร 0-7445-1595 
ติชมได้ที่นี่ : pparadee@medicine.psu.ac.th