อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
 
 
อาหารดีเปรียบเหมือนยาดีสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง
 
     
 
วันที่ 21 เดือนมกราคม พ.ศ.2552
 
     
 
          สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง คือ อาหาร ที่ผู้ป่วยรับประทาน หากผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรงพร้อมที่จะได้รับการรักษาต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมทั้งจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้นด้วยหลังจากได้รับการรักษาแล้ว
 
อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งมีดังต่อไปนี้
          อาหารจำพวกโปรตีน ได้แก่ อาหารประเภทเนื้อปลา, อาหารทะเล, เนื้อไก่, เนื้อหมู, ไข่, นม, เต้าหู้, อาหารประเภทถั่วต่างๆ, เห็ด เป็นต้น อาหารโปรตีนเหล่านี้ จะช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ และยังช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อได้อีกด้วย
   
          สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ควรลดปริมาณอาหารที่ทำมาจากถั่วเหลืองลง เช่น น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ เป็นต้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองจะมีสารที่คล้ายกับฮอร์โมนในเพศหญิง ซึ่งอาจจะกระตุ้นมะเร็งเต้านมได้
 
          อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ อาหารประเภทแป้งต่าง ๆ, ข้าว, ขนมปังต่างๆ, ของหวาน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังวังชา ไม่อ่อนเพลียมาก และช่วยรักษาระดับน้ำหนักไม่ให้ลดลงมาก

          อาหารจำพวกวิตามิน ซึ่งจะมีอยู่ในผักและผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็ง ได้แก่
           สารเบต้าแคโรทีน พบได้มากในผักพื้นบ้านต่าง ๆ ผลไม้ที่มีสีเหลือง สีส้ม เช่น ฟักทอง, มะเขือเทศ, แครอท, ตำลึง, มะละกอสุก, มะม่วงสุก, กล้วยไข่ เป็นต้น
           วิตามินซี พบมากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวต่าง ๆ เช่น ส้ม, มะนาว, ฝรั่ง, แอปเปิ้ล, มะขามป้อม, สมอไทย เป็นต้น
           วิตามินอี พบมากในอาหารประเภทถั่วต่างๆ และธัญพืช เช่น ถั่วลิสง, ถั่วเหลือง, เมล็ดฟักทอง, เมล็ดทานตะวัน, งาดำ, ข้าวกล้อง เป็นต้น

          วิตามิน เส้นใยอาหารและสารอาหารที่มีอยู่ในผักผลไม้เหล่านี้จะทำงานไปด้วยกัน วิตามินดังกล่าวจะช่วยยับยั้งการทำลายเนื้อเยื่อจากอนุมูลอิสระในกระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกาย(ต้านอนุมูลอิสระ) ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปกติไปเป็นมะเร็ง และช่วยให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายทำงานดีขึ้นอีกด้วย
          สารอาหารและเส้นใยอาหารจากผักและผลไม้รวมทั้งธัญพืชต่างๆ เหล่านี้ยังช่วยป้องกันมะเร็งบางอย่าง และยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งอีกด้วย
          นอกจากนี้ผักตระกูลบร็อคโคลี่, กะหล่ำ, คะน้า จะมีสารต่อต้านการเกิดมะเร็งด้วยเช่นกัน
  
     
          แต่เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จะมีปัญหาในการรับประทานอาหารซึ่งจะทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ซึ่งสามารถให้คำแนะนำตามสาเหตุดังนี้
     
น้ำหนักลดลงมาก
          พยายามเพิ่มการรับประทานอาหารระหว่างมื้อ โดยจัดเวลาอาหารเป็นการรับประทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อแล้วเพิ่มอาหารระหว่างมื้อเข้าไป อาจจะเป็นอาหารช่วงบ่ายและช่วงก่อนนอนเป็นต้น ตัวอย่างอาหารระหว่างมื้อ เช่น โจ๊ก, ขนมปังทาเนย หรือแยมคุ้กกี้, ขนมปังกรอบต่างๆ, ไอศครีม, น้ำเต้าหู้, ไมโล หรือโอวัลติน, ข้าวโอ้ต ฯลฯ รวมทั้งอาหารเพิ่มพลังงานอื่นๆ ที่ชอบและควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
          สิ่งสำคัญคือ อย่า ! งดการรับประทานอาหารไปเลย
     
รู้สึกเบื่ออาหาร, คลื่นไส้, อาเจียน
           รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ รับประทานอาหารในช่วงเวลาที่รู้สึกเบื่ออาหารน้อยที่สุด เช่น มื้อเช้า หรือมื้อก่อนการให้ยาเคมีบำบัดเป็นต้น
           รับประทานอาหารที่ชอบ และรับประทานช้า ๆ
           รับประทานขนมปังกรอบหลังจากตื่นนอน หรือหลังจากนอนพักผ่อนแล้ว
           หลีกเลี่ยงจากอาหารที่มีกลิ่นฉุนต่างๆ เช่น กลิ่นกระเทียม, หัวหอม, กลิ่นเครื่องเทศต่างๆ เป็นต้น
           ให้ดื่มน้ำขิง, น้ำมะนาว, น้ำผลไม้เย็นๆ, ไอศครีม หรือเครื่องดื่มที่เย็นๆ ซึ่งจะช่วยไม่ให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมาก ส่วนเครื่องดื่มที่ร้อนจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนมากขึ้น
     
มีแผลบริเวณปากหรือมีอาการเจ็บคอ
           หลีกเลี่ยงอาหารที่แห้งและแข็ง, อาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หรืออาหารที่ร้อน-เย็นเกินไป
           รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ้ก, ข้าวต้ม, ข้าวโอ้ต หรืออาหารเหลวๆ เช่น นม, น้ำเต้าหู้, ไมโล เป็นต้น
           เติมแกงจืดในข้าวเพื่อรับประทานได้ง่ายขึ้น
           บ้วนปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในปาก
     
มีอาการท้องเสีย
           หลีกเลี่ยงจากอาหารที่อาจจะทำให้ท้องเสีย ดังนี้ นม, ผลไม้, อาหารมัน, รสเผ็ด, อาหารหมักดอง เป็นต้น นอกจากนี้ หากดื่มนมแล้วท้องเสีย สามารถเปลี่ยนมาดื่มน้ำเต้าหู้(นมถั่วเหลือง) แทนได้
           หากท้องเสียมาก โดยถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้ง/วัน ให้ดื่มน้ำหรือสารละลายเกลือแร่ เพื่อทดแทนของเหลวที่สูญเสียไป
           รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม, โจ้ก เป็นต้น
           หากอาการท้องเสียยังคงมีอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรรับประทานยาแก้ท้องเสียเอง
     
          คำแนะนำการรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น และส่งเสริมให้การรักษาของแพทย์ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น และยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายอ่อนแอได้อีกด้วย
     
กลับสู่ด้านบน
     
 
     
Untitled Document

   
      Best view 1024 x 768 pixel for Internet Explorer © หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
    ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร 0-7445-1595 โทรสาร 0-7445-1595 
ติชมได้ที่นี่ : pparadee@medicine.psu.ac.th