ความรู้สำหรับประชาชน
  - การดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดทวารเทียม
  - การดูแลตนเองของผู้ที่มีทวารเทียม
  - เมื่อฉายแสงบริเวณศีรษะและคอ
  - การบริหารร่างกายหลังการผ่าตัดเต้านม
  - ทวารเทียม
  - การดูแลตนเองผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
  - การดูแลจิตใจของผู้ป่วยมะเร็ง
  - อาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง
  - ความเข้าใจเกี่ยวกับรังสีรักษา
 
การรักษาและดูแลผู้ป่วย
 
 
เมื่อฉายแสงบริเวณศีรษะและคอ
 
     
 
วันที่ 21 เดือนมกราคม พ.ศ.2552
 
     
 
ท่านรู้สึกอย่างไร ?  เมื่อแพทย์บอกว่าต้องฉายแสง  
          มีผู้ป่วยหลายรายที่เมื่อแพทย์บอกว่าต้องฉายแสงต่อแล้วรู้สึกกลัว กังวล สับสน ท้อแท้ใจ กลัวเจ็บ กลัวเป็นอันตราย กลัวไปต่างๆ นานา จนทำให้ผู้ป่วยบางท่านไม่แน่ใจว่า ควรจะรับการรักษาโดยการฉายแสงต่อหรือไม่ ความรู้สึกเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่จะมาฉายแสงแทบทุกคน เพราะผู้ป่วยไม่มั่นใจว่าการฉายแสงจะรักษาโรคได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคำบอกเล่าจากเพื่อนหรือญาติ ในทางที่ไม่ดีเกี่ยวกับการฉายแสง
          การบอกเล่าต่อๆ กันมานี้ ส่วนใหญ่จะพูดว่า "เขาบอกว่า..." ซึ่งจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ ดังนั้นหากท่านมีข้อสงสัยต่างๆ ที่อยากจะทราบ สามารถสอบถามจากแพทย์หรือพยาบาลประจำหน่วยรังสีรักษาได้ ซึ่งทุกท่านยินดีและเต็มใจที่จะตอบข้อสงสัยต่างๆ แก่ท่านเสมอ
     
 
การฉายแสงคืออะไร ????
          การฉายแสงหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า การฉายรังสีหรือรังสีรักษานั้น เป็นวิธีการรักษาเนื้องอกหรือเนื้อเยื่อที่เจริญผิดปกติ ทำให้เนื้องอกหยุดการเจริญเติบโตและหายได้ จึงเป็นการควบคุมและรักษาโรคที่ได้ผลดีวิธีหนึ่ง
 
ผลของการฉายแสงเป็นอย่างไร ????
           ทำให้ก้อนเนื้องอกค่อยๆ ยุบลงจนหมดไป
           ช่วยลดอาการต่างๆ เช่น ความเจ็บปวด การมีเลือดออก เป็นต้น
           ช่วยให้ชีวิตปลอดภัย และยืนยาว
     
ต้องรักษานานเท่าไร ???
          เนื้องอกบริเวณศีรษะและคอ ส่วนใหญ่จะรักษาโดยการฉายแสงเป็นระยะเวลาประมาณ 6 อาทิตย์ติดต่อกัน แต่อาจจะแตกต่างกันได้ในผู้ป่วยแต่ละท่าน โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการฉายแสงให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละท่าน ผู้ป่วยจะต้องมารับการฉายแสงทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และบางท่านจะได้รับการฉายแสงในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ
     
ขั้นตอนการฉายแสงเป็นอย่างไร ???
          เมื่อท่านตัดสินใจยอมรับการรักษาโดยการฉายแสงแล้ว แพทย์จะนัดท่านมาที่หน่วยรังสีรักษา เพื่อคำนวณขนาดของแสงด้วยเครื่องจำลองการฉายรังสี โดยจะคำนวณบริเวณผิวหนังที่จะถูกแสงทำลายเนื้องอกอย่างได้ผลและตรงเป้าหมาย และจะขีดหมึกสีแดงเพื่อทำเครื่องหมายที่จะฉายแสงไว้ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้ว วันต่อไปให้ท่านมารับการฉายแสงได้ทุกวันตามปกติ
     
การฉายแสงจะเป็นอันตรายหรือไม่ ???
          ขณะฉายแสงผู้ป่วยจะอยู่ในห้องฉายแสง ซึ่งมีเครื่องฉายแสงขนาดใหญ่อยู่เหนือเตียงนอน ลักษณะคล้ายกับเครื่องเอกซเรย์ และจะให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ อยู่คนเดียวช่วงเวลาหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่ฉายแสงจะมองเห็น และติดต่อกับผู้ป่วยได้ตลอดเวลาโดยผ่านทางจอโทรทัศน์และเครื่องพูด ในขณะฉายแสงเจ้าหน้าที่จะปล่อยแสงออกมาจากเครื่องฉายซึ่งท่านจะมองไม่เห็นแสงนี้ และจะไม่รู้สึกอะไรเลยเหมือนกับตอนเอกซเรย์ ซึ่งจะใช้เวลาในการฉายแสงเพียงไม่กี่นาทีในแต่ละครั้ง และจะไม่มีรังสีตกค้างอยู่ภายในตัวท่านแต่อย่างใด
     
มีอาการข้างเคียงจากการฉายแสงและจะดูแลตนเองอย่างไร ???
          อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ฉายแสงบริเวณศีรษะและคอได้แก่
     
การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง
          ผิวหนังบริเวณฉายแสงแดง คล้ำ แห้ง เป็นขุย หรืออาจมีอาการคันได้และหากได้รับการดูแลไม่ถูกต้องจะแตกเป็นแผลได้ นอกจากนี้ผมหรือขนเฉพาะบริเวณฉายแสงจะหลุดร่วงได้ การเปลี่ยนแปลงนี้จะค่อยๆ กลับสู่สภาพเดิม หลังจากฉายแสงครบแล้ว
การปฎิบัติตัวดูแลผิวหนัง
          - ห้าม! เช็ด ล้าง หรือลบรอยหมึกที่แพทย์ขีดไว้ เนื่องจากรอยหมึกจะเป็นบริเวณที่แพทย์คำนวณไว้เพื่อให้ฉายแสงได้ตรงกับบริเวณที่เป็นโรค แต่หากบริเวณนี้โดนน้ำโดยบังเอิญให้ใช้ผ้าซับเบาๆ ให้แห้ง
          - ห้ามนำ! ครีม น้ำมัน แป้ง หรือสิ่งอื่นๆ ทาบริเวณที่ฉายแสง นอกจากหมอฉายแสงหรือรังสีแพทย์จะแนะนำให้ใช้
          - การฉายแสงบริเวณใบหน้าและลำคอ ไม่ควรใช้มีดโกนหนวดเครา เพราะจะทำให้เกิดแผลได้ง่าย
          - ควรสวมเสื้อผ้าที่อ่อนนุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคอเสื้อ เพราะจะทำให้ระคายเคืองบริเวณที่ฉายแสง และจะเกิดเป็นแผลถลอกได้ง่าย
          - หลีกเลี่ยงการแกะ เกา เพราะจะทำให้เกิดแผลได้ง่ายขึ้น หากมีอาการคันให้ใช้มือลูบเบาๆ และให้ใช้แป้งข้าวโพดทาและหากมีแผลควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาล
          - หลีกเลี่ยงจากแสงแดดจัดๆ เนื่องจากจะทำให้ผิวหนังอักเสบและรู้สึกแสบร้อนได้
          - เมื่อฉายแสงครบแล้ว ควรดูแลผิวหนังเหมือนขณะฉายแสงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ประมาณ 10 วัน หรือจนกว่าผิวหนังที่เป็นแผลจะหายดีแล้ว
 
รู้สึกอ่อนเพลีย
          อาการอ่อนเพลียอาจเกิดขึ้นได้ซึ่งถือว่าไม่เป็นสิ่งที่ผิดปกติ อีกทั้งอาจเกิดจากผู้ป่วยรับประทานได้น้อยลงและอาจเดินทางมาไกลทุกๆ วันจึงทำให้อ่อนเพลียได้
การปฎิบัติตัวเมื่ออ่อนเพลีย
          พักผ่อนให้เพียงพอปรับการทำงานหรือการออกแรงให้เหมาะสมกับตัวท่าน โดยการทำแล้วไม่รู้สึกเหนื่อยหรือเพลีย เพิ่มเวลานอนพักตอนกลางวัน วันละ 2 - 3 ชั่วโมง
 
เบื่ออาหาร
          ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอาการข้างเคียงของการฉายแสง และเกิดจากการที่มีกิจกรรมหรือทำงานลดลงในระหว่างการฉายแสง ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงการรับรสอาหาร หรืออาจเกิดจากความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล จึงทำให้ผู้ป่วยไม่อยากรับประทานอาหาร
การปฎิบัติตัวเมื่อเบื่ออาหาร

           ควรพยายามรับประทานอาหารให้ได้เต็มที่ โดยเฉพาะในระยะแรกของการฉายแสง
เนื่องจากจะยังไม่มีอาการเบื่ออาหารมากนัก
           ให้รับประทานอาหารที่ชอบ
           รับประทานครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ รับประทานอาหารร่วมกับเพื่อน
           ออกกำลังกายเบาๆ โดยอาจจะเดินเล่นรอบๆ ที่พักประมาณ 5 - 10 นาที ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง
           พยายามดื่มเครื่องดื่มประเภท นม ไมโล น้ำเต้าหู้ หรือนมถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานและมีประโยชน์ แต่หากยังรับประทานได้น้อยมาก หรือน้ำหนักลดลงมากควรปรึกษาแพทย์

     
ความต้านทานโรคต่ำ ซีด เลือดออกง่าย
          เป็นผลจากไขกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดถูกกดจากรังสี หรือยาเคมีบำบัดที่เคยให้ร่วมกับการฉายรังสีในผู้ป่วยบางราย ทำให้เม็ดเลือดขาวซึ่งมีหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคลดจำนวนลง ผู้ป่วยจึงติดเชื้อง่าย อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อหยุดการฉายรังสีชั่วคราว
การปฎิบัติตัว
           ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือคลุกคลีกับบุคคลที่ติดเชื้อ
           ไม่ควรอยู่ในที่แออัดหรือมีคนมากๆ
           รักษาความสะอาดของร่างกาย รวมทั้งภาชนะที่ใส่อาหาร
           รับประทานอาหารที่ต้มสุกแล้ว
           รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงเลือด เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง ผักใบเขียว เป็นต้น
           หากมีไข้ตัวร้อน ท้องเสีย ควรแจ้งแพทย์โดยเร็ว
     
ปากแห้ง น้ำลายเหนียวข้น
          อาจพบได้ตั้งแต่อาทิตย์แรกหรืออาทิตย์ที่ 3 ของการฉายแสง เนื่องจากต่อมน้ำลายมีการสร้างน้ำลายลดน้อยลงจากการฉายแสงโดนบริเวณต่อมน้ำลายด้วย
การปฎิบัติตัว
           จิบน้ำบ่อยๆ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 10 แก้ว หรือมากกว่า 3 ขวด
แม่โขงกลม อาจจะดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำอะไรก็ได้ที่ชอบ เช่น น้ำหวาน, น้ำผลไม้ เป็นต้น
           ผู้ป่วยควรพกขวดน้ำติดตัวทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน หรือแม้แต่ช่วงมา
นั่งรอฉายแสง
           นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีน้ำมากๆ เช่น แกงจืด, แกงเลียง, แตงกวา, แตงโม เป็นต้น
     
เจ็บคอ เยื่อบุภายในช่องปากอักเสบ
          จะเกิดอาการเจ็บคอ เจ็บและตึงในปาก เยื่อบุภายในปากบวมแดง อาจพบแผ่นฝ้าขาวในปาก ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการฉายแสงถูกบริเวณใกล้เคียงกับช่องปาก
การปฎิบัติตัวดูแลช่องปาก
           หลีกเลี่ยงอาหารร้อนจัด เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด เพราะจะทำให้ระคายเคืองและเจ็บแสบในปากและคอ การดื่มน้ำหรือจิบน้ำมากๆ จะทำให้ช่องปากชุ่มชื้นและทำให้เสมหะเหนียวน้อยลง
           รักษาความสะอาดในช่องปากอย่างเคร่งครัด
           บ้วนปากบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาด น้ำยาบ้วนปากที่แพทย์สั่งให้ หรือสามารถทำน้ำยาบ้วนปากเองได้ โดยใช้น้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา 1 แก้วผสมเกลือแกงครึ่งช้อนชา (หรือ ใช้น้ำ 1 ขวดแม่โขงกลมผสมเกลือแกง 2 ช้อนชา) ใช้บ้วนปากทุก 2 ชั่วโมง หรือทุกครั้ง หลังจากรับประทานอาหาร
           ควรแปรงฟันโดยใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กที่มีขนแปลงอ่อนๆ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แต่ในรายที่มีแผลในปาก และแปรงฟันลำบาก ให้ใช้สำลีหรือผ้าสะอาดพันปลายนิ้วเช็ดทำความสะอาดแทนแปรงสีฟัน ร่วมกับการบ้วนปากหลังรับประทานอาหาร
           หากเจ็บปากเจ็บคอมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
     
ช่องปากแคบและอ้าปากได้น้อยลง
          เป็นผลจากการฉายแสงกระทบต่อกล้ามเนื้อบริเวณรอบปาก ซึ่งอาการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขลำบาก แต่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้โดยการบริหารกล้ามเนื้อปาก
การปฎิบัติตัวดูแลช่องปาก
          บริหารกล้ามเนื้อปาก โดยตั้งคอให้ตรงอ้าปากให้กว้างที่สุด แล้วหมุนคอไปทางขวา พร้อมกับขยับปากขึ้นลง แล้วหมุนกลับมาทางซ้ายช้าๆ พร้อมกับขยับปากขึ้นลง แล้วหมุนกลับมาอยู่ในท่าตรง ควรทำทุกวันอย่างน้อยวันละ 20 ครั้ง
     
     
          อาการเปลี่ยนแปลง หรืออาการข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการฉายแสงนี้เป็นอาการปกติที่เกิดจากการฉายแสง ไม่ใช่อาการของโรคที่เลวลง ซึ่งสามารถบรรเทาหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ หากท่านดูแลตนเองได้ถูกต้องและปฎิบัติอย่างต่อเนื่องระหว่างที่ฉายแสง
          นอกจากนี้เพื่อให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น ท่านควรทำจิตใจให้สบาย หากมีเรื่องไม่สบายใจควรพูดคุยหรือปรึกษากับคนที่ท่านไว้วางใจ อาจจะเป็นญาติ เพื่อนสนิท แต่หากท่านไม่มีใครที่จะปรึกษา ก็ยังมีแพทย์และพยาบาลที่ยินดีรับฟังและเต็มใจจะให้คำแนะนำ ปรึกษาในเรื่องต่างๆ แก่ท่าน ขอให้ท่านสร้างความหวังและกำลังใจในการต่อสู้กับความเจ็บป่วย อย่าได้ท้อแท้และ ในที่สุดท่านก็จะสามารถรับการฉายแสงได้ครบถ้วนตามที่แพทย์ได้วางแผนการรักษาไว้
 
 
ฉายรังสีฉายรังสีครบแล้วควรปฎิบัติอย่างไรต่อไป?
            ท่านจะสามารถทำความสะอาดบริเวณที่ฉายแสง หรืออาบน้ำได้หลังจากฉายแสงครบแล้ว ประมาณ 7-10 วัน หรือในรายที่มีแผลหรือรอยถลอกต้องรอจนกว่าแผลจะหายเสียก่อน อาการข้างเคียงต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2 อาทิตย์หลังจากฉายแสงครบแล้ว
          หลังจากฉายแสงครบแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ท่านต้องมาตรวจตามที่แพทย์นัดทุกครั้งเพื่อเป็นการติดตามอาการและผลการรักษาของแพทย์ หากท่านปฎิบัติตนตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะช่วยให้ท่านลดอาการข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดจากการฉายแสงได้ หากมีข้อสงสัยประการใดสามารถปรึกษาแพทย์และพยาบาลได้ตลอดเวลาที่ หน่วยรังสีรักษา
 
     
     
ดัดแปลงจาก - BOOKLET " UNDERSTANDING RADIOTHERAPY " NSW CANCER COUNCIL
                   ,SYDNEY , NSW , AUSTRALIA
                  - คู่มือเรื่องเนื้องอกบริเวณศีรษะและคอกับการรักษาโดยการฉายแสง ของ ชฎาพร คงเพชร
     
กลับสู่ด้านบน
     
 
     
Untitled Document

   
      Best view 1024 x 768 pixel for Internet Explorer © หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
    ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร 0-7445-1595 โทรสาร 0-7445-1595 
ติชมได้ที่นี่ : pparadee@medicine.psu.ac.th