ความรู้สำหรับประชาชน
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยเงียบที่ควรรู้
  - ไวรัสตับอักเสบบีและซีกับมะเร็งตับ
  - มะเร็งปากมดลูกและวัคซีน
  - มะเร็งศีรษะและลำคอ
  - มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  - มะเร็งผิวหนัง
  - มะเร็งรังไข่
  - มะเร็งโพรงหลังจมูก
  - มะเร็งช่องปาก
  - มะเร็งต่อมไทรอยด์
  - มะเร็งกล่องเสียง
  - เนื้องอกสมอง
  - มะเร็งกระเพาะอาหาร
  - มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน
  - มะเร็งหลอดอาหาร
  - มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  - มะเร็งต่อมลูกหมาก
  - มะเร็งตับ
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
  - มะเร็งเต้านม
  - มะเร็งปอด
  - มะเร็งปากมดลูก
 
ความรู้โรคมะเร็ง
 
 
มะเร็งปากมดลูกและวัคซีน
 
     
 
วันที่ 19 เดือนมกราคม พ.ศ.2552
 
     
 
ดัดแปลงจาก : ศ.น.พ. จตุพล ศรีสมบูรณ์ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย  
     
     
        “มะเร็งปากมดลูก....สาเหตุการตายที่สำคัญของมะเร็งในผู้หญิงไทย”
        มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย ความน่ากลัวของมะเร็งปากมดลูก คือ โรคนี้ ไม่มีอาการเตือนในระยะแรก ทำให้ผู้หญิงจะไม่ทราบเลยว่าตนเองมีความผิดปกติหรือไม่
สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
        ปัจจุบันเราทราบแน่นอนแล้วว่าการติดเชื้อ ไวรัสฮิวแมนแพพิโลมา ซึ่งเรียกย่อๆ ว่าเชื้อ “เอชพีวี” เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก โดยเชื้อเอชพีวีนี้มีมากกว่า 100 ชนิดหรือสายพันธุ์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
        • กลุ่มที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สายพันธุ์ 6 และ11 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่
        • กลุ่มที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สายพันธุ์ 16, 18, 31,33 และ 45 ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกจนอาจกลายเป็นมะเร็งได้
 
        โดยทั่วไปแล้วเชื้อเอชพีวีมักติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสโดยตรงทางผิวหนัง การใช้ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ การติดเชื้อเอชพีวีพบได้บ่อยมาก แม้ว่าจะมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวก็ตาม การติดเชื้อเอชพีวีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบชั่วคราว คือ เชื้อจะอยู่ในเซลล์ปากมดลูก ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วหายไปได้เอง และอาจจะติดเชื้อซ้ำใหม่ได้อีกในภายหลัง จากสถิติพบว่า
        • 50-80 % ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วจะติดเชื้อเอชพีวีในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
        • 50% ของผู้หญิงที่มีคู่นอนคนเดียวจะติดเชื้อเอชพีวีภายใน 2-3 ปีแรกที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์
        นอกจากนี้แล้วเชื้อเอชพีวีเป็นเชื้อที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ ทำให้เชื้อไม่ถูกทำลาย และการที่เชื้อชอบอยู่เฉพาะบริเวณเยื่อบุผิวปากมดลูก ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือถ้ามีก็มักอยู่ในระดับที่ต่ำ จนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ในภายหลัง ดังนั้นผู้หญิงจึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสนี้ได้อยู่ตลอดตราบใดที่ยังมีเพศสัมพันธ์
 
การป้องกันตน เพื่อให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งปากมดลูก
        การเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูก หรือลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชพีวี เป็นเรื่องสำคัญของผู้หญิง โดยมีข้อแนะนำที่ทำได้ง่าย ๆ คือ
        1. การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
        2. ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เรียกว่า "แพปสเมียร์ " (Pap smear) เป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบว่า เซลล์บริเวณปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติหรือไม่ เพราะการรักษาในระยะก่อนเป็นมะเร็งจะทำให้มีโอกาสหายขาดได้ค่อนข้างสูง ในขณะที่การรักษาในระยะลุกลามนั้นจะรักษาให้หายขาดได้น้อยลง และมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นตามระยะของมะเร็ง
        3. ฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีชนิดก่อมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก
             
 
วัคซีนเอชพีวี…. ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ดีเพียงใด
        จากการศึกษาในอาสาสมัครสตรีมากกว่า 20,000 รายที่ยังไม่เคยติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 มาก่อน พบว่าการฉีดวัคซีนเอชพีวี สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงมาก และมีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุ 70% ของเชื้อเอชพีวีที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และยังสามารถป้องกันความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก ที่เกิดขึ้นจากเชื้อดังกล่าวก่อนที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวีจึงสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 70%
        ในด้านความปลอดภัยนั้น พบว่าการฉีดวัคซีนเอชพีวีมีความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง อาการที่พบได้บ่อย คือ อาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดยาซึ่งไม่รุนแรงและหายไปได้เอง
 
วัคซีนเอชพีวีมีกี่ชนิด และแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างไร
        วัคซีนเอชพีวีที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด ทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีชนิด 16 และ 18 และการเกิดความผิดปกติของเซลล์บริเวณเยื่อบุปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อดังกล่าว วัคซีนทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง กล่าวคือ วัคซีนชนิดที่หนึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีชนิด 6 และ 11 ด้วย ซึ่งเชื้อทั้งสองชนิดเป็นเชื้อเอชพีวีชนิดไม่ก่อมะเร็ง แต่ทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศ ส่วนวัคซีนอีกชนิดหนึ่งใช้นวัตกรรมของสารเสริมการกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดใหม่ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้สูง และคงระดับสูงอยู่ได้นาน
 
   
วัคซีนเอชพีวี… ฉีดกี่เข็ม ฉีดเมื่อไหร่ และมีภูมิคุ้มกันนานแค่ไหน
        การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี พบว่ามีประสิทธิภาพสูงโดยถ้าฉีดในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อเอชพีวีมาก่อน หรือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ และประสิทธิภาพจะลดลงในหญิงที่แต่งงานแล้ว หรือเคยติดเชื้อเอชพีวี หรือกำลังติดเชื้อเอชพีวีอยู่ โดยช่วงอายุหญิงที่สมควรได้รับวัคซีนป้องกันคือ 9-26 ปี เริ่มฉีดตั้งแต่ช่วงอายุ 9-13 ปีจะดีที่สุด แต่สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 26 ปียังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี
        วัคซีนเอชพีวีใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน จะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 และ 3 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ จากข้อมูลที่มีอยู่จนถึงปัจจุบันพบว่า การฉีดวัคซีนเอชพีวี สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี และรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกได้นาน อย่างน้อย 5.5- 6.4 ปี ระดับภูมิคุ้มกันที่มีอยู่สูงกว่าระดับภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อเอชพีวีตามธรรมชาติ ดังนั้นหลังจากฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม(ในช่วงเวลา 6 เดือน) จึงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำที่ อย่างน้อย 5.5 ปี ระดับภูมิคุ้มกันจะคงอยู่นานเท่าไรนั้นจะต้องติดตามดูต่อไป
 
        อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวีครบ 3 เข็มแล้ว สตรียังต้องมารับการตรวจแพปสเมียร์อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปีเช่นเดียวกับสตรีอื่น ๆ เพราะการป้องกันจากวัคซีนเอชพีวี สามารถครอบคลุมเฉพาะเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ18 ซึ่งเป็นสาเหตุประมาณ 70% ของมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น ยังมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์อื่น ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน
 
กลับสู่ด้านบน
 
 
     
Untitled Document

   
      Best view 1024 x 768 pixel for Internet Explorer © หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
    ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร 0-7445-1595 โทรสาร 0-7445-1595 
ติชมได้ที่นี่ : pparadee@medicine.psu.ac.th