ความรู้สำหรับประชาชน
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยเงียบที่ควรรู้
  - ไวรัสตับอักเสบบีและซีกับมะเร็งตับ
  - มะเร็งปากมดลูกและวัคซีน
  - มะเร็งศีรษะและลำคอ
  - มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  - มะเร็งผิวหนัง
  - มะเร็งรังไข่
  - มะเร็งโพรงหลังจมูก
  - มะเร็งช่องปาก
  - มะเร็งต่อมไทรอยด์
  - มะเร็งกล่องเสียง
  - เนื้องอกสมอง
  - มะเร็งกระเพาะอาหาร
  - มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน
  - มะเร็งหลอดอาหาร
  - มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  - มะเร็งต่อมลูกหมาก
  - มะเร็งตับ
  - มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
  - มะเร็งเต้านม
  - มะเร็งปอด
  - มะเร็งปากมดลูก
 
ความรู้โรคมะเร็ง
 
 
ไวรัสตับอักเสบบีและซีกับมะเร็งตับ
 
     
 
วันที่ 19 เดือนมกราคม พ.ศ.2552
 
     
 
        ไวรัสตับอักเสบบี และซ เป็นไวรัสตับอักเสบที่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ปัจจุบันพบผู้ป่วยที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีทั่วโลก ประมาณ 350-400 ล้านคน ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบบีสูง เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอัฟริกา

การติดต่อ
        ในประเทศไทยการรับเชื้อส่วนใหญ่มาจากมารดาเป็นพาหะติดต่อสู่ทารกตอนคลอด เนื่องจากในวัยเด็กภูมิคุ้มกันยังไม่ดีพอกำจัดเชื้อไวรัสได้ยาก ไวรัสตับอักเสบบี และซี สามารถติดต่อได้ทางเลือด เช่น การรับเลือดและผลิตภัณฑ์ของเลือด (การติดต่อทางเลือดนี้ลดลงมาก นับตั้งแต่มีการตรวจคัดกรองเมื่อบริจาคเลือด) จากเข็มฉีดยา การฝังเข็ม และเครื่องมือต่างๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อ ไวรัสตับอักเสบบี
        เชื้อไวรัสตับอักเสบบี  จะสามารถตรวจพบได้ในน้ำตา น้ำมูกในโพรงจมูก น้ำอสุจิ เยื่อเมือกช่องคลอด เลือดประจำเดือน และน้ำคร่ำ ดังนั้นจึงสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์และเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งดังกล่าว ส่วนการรับประทานร่วมกันมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยมาก และปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแล้ว
        ส่วนไวรัสตับอักเสบซี  การติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูก และการติดต่อในครอบครัวพบได้น้อยมาก โดยปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จะป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดซีได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าติดเชื้อไวรัสซี เพราะมักจะไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการตรวจเลือดของตับอักเสบและไวรัสซีในเลือด
     
 
เมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีและซี จะเสี่ยงกับโรคมะเร็งตับอย่างไร
          เมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในวัยเด็กโอกาสจะหายน้อย และมีโอกาสกลายเป็นพาหะ หรือตับอักเสบเรื้อรังได้ร้อยละ 50-90 เมื่อเทียบกับถ้าได้รับเชื้อในวัยผู้ใหญ่ ร้อยละ 5-10 ผู้ที่เป็นพาหะหรือตับอักเสบบีเรื้อรังส่วนหนึ่งจะมีการดำเนินโรคกลายเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น น้ำในช่องท้อง ตาเหลือง ตัวเหลือง เลือดออกจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร มีอาการซึมสับสนทางสมอง ตับวาย

บุคคลที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ตับอักเสบบีและซี มีดังนี้
                
          เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
          ได้รับการสัก เจาะหู หรือฝังเข็ม ที่ปนเปื้อนเลือดของผู้อี่น
          การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน
          การใช้ใบมีดโกน หรือแปรงสีฟัน ร่วมกับบุคคลที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี
          ได้รับเลือดหรือส่วนผสมของเลือด และการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะก่อน พ.ศ. 2529
 
 
กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งตับ
          1. ผู้ป่วยโรคตับแข็งทั้งเพศหญิงและชาย
          2. ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบบี หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกคลอดหรือวัยเด็ก และยังไม่มีโรคตับแข็งแต่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับสูงในเพศชาย อายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี และมีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว
          3. ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังบางกลุ่ม รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว
 
 
วิธีการตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งตับในกลุ่มเสี่ยง
          โดยตรวจเลือดหาค่า Alfa-fetoprotein (AFP) ร่วมกับการตรวจตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง(ultrasonography) เป็นประจำทุก 6 เดือน
 
 
แนวทางการวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ
          เมื่อตรวจคัดกรองมะเร็งตับในกลุ่มเสี่ยงโดยการตรวจตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ร่วมกับการเจาะเลือดตรวจหาค่า AFP แล้วพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรอง แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคมะเร็งตับเพิ่มเติม ดังนี้
 
 
กรณีตรวจพบก้อนจากการตรวจตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
          1. ถ้าก้อนที่ตับมีลักษณะเส้นเลือดมาก และมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร และมีค่า AFP มากกว่า 400 ng/mL สามารถวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับโดยไม่ต้องตรวจชิ้นเนื้อตับ
          2. ถ้าการตรวจตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (US) พบก้อนที่ตับขนาด 1-2 เซนติเมตร แพทย์จะทำการตรวจยืนยันโดยการตรวจตับด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และ/หรือ ด้วยเครื่องตรวจร่างกายด้วยสนามแม่เหล็กความเข้มสูง (MRI) และดูค่า AFP ดังข้อ 1 หรือตรวจชิ้นเนื้อตับต่อไป
          3. ถ้าพบก้อนขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ซึ่งการตรวจชิ้นเนื้อทำได้ยาก แพทย์จะทำการตรวจตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (US) และเจาะเลือดตรวจหาค่า AFP ซ้ำทุก 3 เดือน ถ้าก้อนขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีค่า AFP สูงขึ้น จะถือว่ามีโอกาสเป็นโรคมะเร็งตับ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมดังข้อ 2.
 
 
กรณีตรวจ US ไม่พบก้อน
          1. หากค่า AFP ปกติ แพทย์จะนัดเจาะเลือดตรวจหาค่า AFP ร่วมกับตรวจตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (US) ทุก 6 เดือน
          2. หากค่า AFP สูงกว่าปกติ (>100ng/ml) แพทย์จะตรวจตับด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพิ่มเติม และถ้าไม่พบความผิดปกติ แพทย์จะนัดเจาะเลือดตรวจหาค่า AFP ร่วมกับตรวจตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (US) ทุก 6 เดือน
 
กลับสู่ด้านบน
 
 
     
Untitled Document

   
      Best view 1024 x 768 pixel for Internet Explorer © หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
    ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทร 0-7445-1595 โทรสาร 0-7445-1595 
ติชมได้ที่นี่ : pparadee@medicine.psu.ac.th