|
โดย
หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โทร.
0 7445 1469 |
ศูนย์มะเร็ง
คณะแพทยศาสตร์ โทร. 0 7445 1595 |
|
|
|
|
ในปัจจุบันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ถือเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายในอันดับต้น
ๆ จากโรคมะเร็งทั้งหมด ทั้งในประเทศแถบยุโรป อเมริกา และประเทศแถบตะวันตก
ซึ่งในประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งในระยะสุดท้ายหรือมารับการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง
ทำให้ยากต่อการรักษาและทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็ว
สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ช้า หรือมาพบแพทย์ไม่ต่อเนื่อง
เป็นเพราะขาดความรู้ ความเข้าใจในส่วนของตัวโรคเอง การตรวจ
การรักษา การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และความกลัวในเรื่องของผลข้างเคียง
ปัจจุบันนี้การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีความก้าวหน้ามากขึ้น
ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น หรือทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
จนถึงการปฏิบัติตนในระหว่างได้รับการรักษา
ดังนั้น
การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจ การรักษา ที่ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน จะทำให้ผู้ป่วยลดความกังวลและให้ความร่วมมือในการรักษา
รวมถึงการมาเข้ารับการรักษาตามที่แพทย์กำหนดได้ดียิ่งขึ้น
|
|
มะเร็ง
เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่แบ่งตัวต่อเนื่องโดยไม่สามารถควบคุมได้
เซลล์ที่ผิดปกติเมื่อแบ่งตัวต่อเนื่องจนกลายเป็นก้อนขนาดใหญ่เรียกว่า
เนื้องอก ซึ่งเนื้องอกอาจจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ได้
เมื่อมะเร็งแพร่เข้าสู่กระเสเลือดหรือทางเดินน้ำเหลืองและไปปรากฏยังส่วนอื่น
ๆ ของร่างกายเรียกว่า มะเร็งแพร่กระจาย |
|
มะเร็งลำไส้ใหญ่
เป็นเซลล์มะเร็งของเนื้อเยื่อลำไส้ ชนิดที่พบบ่อยคือมะเร็งที่เติบโตมาจากเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นต่อมในลำไส้ใหญ่ก่อนที่เซลล์จะกลายเป็นมะเร็ง
บางครั้งอาจพบลักษณะคล้ายติ่งเนื้องอกในลำไส้ขึ้นมาก่อนได้ซึ่งการผ่าตัดติ่งเนื้องอกออก
สามารถป้องกันไม่ให้เซลล์เปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจลุกลามทะลุผนังลำไส้หรือแพร่กระจายต่อไปยังตับ
ปอด สมอง หรือกระดูกได้ |
|
|
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ |
ปัจจัยเสี่ยง
หมายถึง สิ่งใดก็ได้ที่สามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคในบุคคลคนนั้น
สำหรับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
1.
มีประวัติติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ซึ่งติ่งเนื้อบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมาได้
การตรวจลำไส้ใหญ่โดยการส่องกล้อง สามารถตรวจพบและผ่าออกได้ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งต่อไป
2.
อายุ พบว่ามากกว่า 90 % ของมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดในอายุมากกว่า
50 ปี
3.
โรคลำไส้ใหญ่บางชนิด อาจเกิดการอักเสบเรื้อรัง
และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงได้
4.
มีประวัติมะเร็งชนิดอื่น ที่เคยเป็นมาก่อนในบุคคลนั้น
5.
มีประวัติมะเร็งในครอบครัว หรือมีโรคแต่กำเนิดบางชนิด
เช่น โรคเนื้องอกแต่กำเนิดในลำไส้ใหญ่ อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงได้
6.
กิจวัตรประจำวัน เช่น การบริโภคอาหารไขมันสูง
หรือไม่ได้ออกกำลังกายอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้
7.
การสูบบุหรี่ |
|
|
การป้องกันโดยการตรวจสอบก่อนมีอาการ |
แพทย์จะให้คำแนะนำในการตรวจสอบในผู้ป่วยแต่ละราย
เช่น ผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวว่าเป็นมะเร็ง ซึ่งการตรวจสอบมีหลายวิธี
เช่น หลังจากอายุ 50 ปีไปแล้ว อาจได้รับการตรวจสอบหาปริมาณเลือดปนเปื้อนในอุจจาระปีละครั้ง
และ/หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 5-10 ปี และหากสงสัยว่ามีปัจจัยเสี่ยงมาก
อาจตรวจสอบถี่กว่าระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ยังอาจมีการตรวจร่างกายโดยใช้นิ้วคลำบริเวณทวารหนัก
การตรวจทางรังสี เช่น การสวนแป้งแบเรียม หรือการตรวจภาพคอมพิวเตอร์สแกน
เป็นต้น |
|
|
 |
อาการและอาการแสดง |
อาการและอาการแสดงต่อไปนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้เร็ว
ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้
อาการดังกล่าวได้แก่
1.
การเปลี่ยนแปลงของการขับถ่ายประจำ หรือลักษณะอุจจาระลีบเล็กลง
2.
ท้องเสียหรือท้องผูกสลับกัน
3.
อึดอัดแน่นท้อง มีอาการเกร็งคล้ายเป็นตะคริวในท้อง
4.
น้ำหนักลด โดยไม่ได้จำกัดอาหาร
5.
เลือดออกทางทวารหนัก หรือปนมากับอุจจาระ
6.
เบื่ออาหาร อ่อนเพลียอย่างผิดปกติ |
|
|
|
การวินิจฉัย |
แพทย์จะตรวจวินิจฉัยตามวิธีการที่เหมาะสม
การตัดชิ้นเนื้อเป็นวิธีที่สามารถวินิจฉัยได้อย่างแน่นอนร่วมกับการตรวจเลือดหรือการตรวจทางรังสีอื่น
ๆ เพื่อตรวจการลุกลามแพร่กระจายของโรคโดยพิจารณาจากอายุและโรคประจำตัวของผู้ป่วย
ชนิดของมะเร็ง ความรุนแรงของอาการ และการตรวจสอบที่เคยทำมาแล้ว |
|
|
ระยะของโรค |
ระยะของโรคเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาวิธีการรักษา
การตรวจสอบเพื่อระบุระยะของโรค เป็นวิธีมาตรฐานในการประเมินก่อนการรักษา
การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักในทุกระยะของโรค ร่วมกับการรักษาอื่น
ๆ ตามแต่พิจารณา |
ระยะของโรค
มี 5 ระยะ สามารถแบ่งได้เป็น |
|
ระยะ
0-1 โรคจำกัดอยู่ในผนังลำไส้ใหญ่
การรักษาหลักคือ การผ่าตัด
ระยะ
2-3 โรคลุกลามออกนอกผนังลำไส้ใหญ่
หรือเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง การรักษาหลักจะเป็นการพิจารณาการใช้การผ่าตัด,
เคมีบำบัด, รังสีรักษาร่วมกัน
ระยะ
4 โรคแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น
การรักษาจะพิจารณาผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป |
|
|
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ |
ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง ตำแหน่งของที่เกิดมะเร็ง
การลุกลามของโรค และสภาพของผู้ป่วย |
|
การผ่าตัด |
ควรได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านมะเร็ง
โดยส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดส่วนที่เป็นมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงออก
ผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการนำลำไส้มาเปิดทางหน้าท้องและขับถ่ายทางถุงหน้าท้อง
ซึ่งอาจเป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ปัจจุบันการนำรังสีรักษาและเคมีบำบัดมาใช้ร่วมกับการผ่าตัดสามารถลดการนำลำไส้มาเปิดที่หน้าท้องอย่างถาวรได้
ปัจจุบันมีการผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้อง
ซึ่งลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดใหญ่ได้ แต่ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกราย
|
|
รังสีรักษา |
รังสีรักษา สามารถให้ก่อนหรือหลังผ่าตัด
เพื่อทำลายโรคบริเวณต้นกำเนิดการให้รังสีรักษาก่อนผ่าตัดสามารถช่วยลดขนาดโรคทำให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
ส่วนการให้หลังผ่าตัดสามารถช่วยทำลายโรคที่อาจหลงเหลืออยู่
ปัจจุบันพบว่าการให้รังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดให้ผลดีกว่าการให้หลังการผ่าตัด
สามารถลดการเกิดโรคขึ้นมาใหม่ และเลี่ยงการผ่าตัดชนิดนำลำไส้ใหญ่มาเปิดไว้ที่หน้าท้องได้ |
รังสีรักษาวิธีการพิเศษ เช่น การฉายรังสีปริมาณสูงเพียงครั้งเดียวระหว่างผ่าตัดหรือการฝังแร่
สามารถใช้ในบริเวณรอยโรคเล็ก ๆ ที่อาจหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดได้
การรักษาดังกล่าวมาทุกวิธี
มีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยได้แตกต่างกันไป ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะให้คำแนะนำและรักษาผลข้างเคียงดังกล่าวไปด้วย
|
|
ยาเคมีบำบัด |
ยาเคมีบำบัดสามารถทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ก่อนหรือหลังการผ่าตัดได้แต่อาจมีผลข้างเคียงมากในผู้ป่วยบางราย
ซึ่งปัจจุบันสามารถให้ยาบรรเทาผลข้างเคียงดังกล่าวร่วมด้วยได้ |
|
|
ผลข้างเคียงจากการรักษา |
ผลข้างเคียงจากการรักษา
จะแตกต่างกันไปตามชนิดของการรักษา มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจมีผลทำให้ผลข้างเคียงรุนแรงมากหรือน้อยต่างกันไป
แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้แนะนำและให้การรักษาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยตามความเหมาะสมเป็นรายๆ
ไป |
|
|
|
การใช้ยาเพื่อรักษาเฉพาะเป้าหมาย |
เป็นการรักษาใหม่เพื่อยับยั้งมะเร็งโดยตรงที่เป้าหมาย
เช่น ยายับยั้งการสร้างเส้นเลือดในมะเร็ง เป็นต้น ยายับยั้งการสร้างเส้นเลือด
เป็นยารักษามะเร็งในกลุ่มที่ใช้การออกฤทธิ์โดยตรงที่เป้าหมาย
โดยอาศัยหลักการของการสร้างเส้นเลือดในมะเร็ง เนื่องจากมะเร็งเป็นการเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง
จึงต้องสร้างเส้นเลือดเพื่อนำออกซิเจนและสารอาหารมาเลี้ยงตัวเองให้เติบโต
เซลล์มะเร็งบางเซลล์สามารถสร้างโปรตีนที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดและปลดปล่อยสารนี้ออกไปยังเส้นเลือดใกล้เคียง
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่จากเส้นเลือดปกติและแผ่ขยายเข้าสู่ก้อนมะเร็งได้
ซึ่งผลที่ตามมา คือ
1. มะเร็งสามารถขยายขนาดได้อย่างรวดเร็ว
2. มะเร็งสามารถลุกลามเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ
ในบริเวณนั้น |
3.
เซลล์มะเร็งสามารถกระจายเข้าสู่เส้นเลือดที่สร้างใหม่
และเข้าสู่ระบบกระแสเลือดของร่างกายได้
4. เซลล์มะเร็งสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
ต่อไปได้
* ยายับยั้งการสร้างเส้นเลือดสามารถยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ของเซลล์มะเร็ง
ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเติบโต เนื่องจากขาดเส้นเลือดที่จะหล่อเลี้ยง |
|
|
|
ความแตกต่างระหว่างการรักษา |
โดยยายับยั้งการสร้างเส้นเลือด
กับยาเคมีบำบัด |
1.
ยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์ที่ก้อนมะเร็ง ในขณะที่ยายับยั้งการสร้างเส้นเลือดออกฤทธิ์ที่หลอดเลือดโดยรอบ
พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยยาเคมีบำบัดร่วมกับยายับยั้งการสร้างเส้นเลือด
พบว่าผู้ป่วยมีชีวิตได้ยืนยาวขึ้น
2. ยาเคมีบำบัดอาจออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวในเนื้อเยื่อปกติได้
เช่น เส้นผม ลำไส้ ไขกระดูก จึงเป็นเหตุให้เกิดผลข้างเคียงซึ่งอาจรุนแรงในผู้ป่วยบางราย
ขณะที่ยายับยั้งการสร้างเส้นเลือดจะมีผลยับยั้งเฉพาะการสร้างเส้นเลือดที่เกิดใหม่ในก้อนมะเร็ง
ทำให้ผลข้างเคียงที่พบน้อยกว่าการใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งสามารถยับยั้งการเติบโตของก้อนมะเร็งได้
อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น เลือดกำเดาออก
ความดันโลหิตสูง พบสารโปรตีนในปัสสาวะ และแผลหายช้า |
|
|
การติดตามผลการรักษา |
ผู้ป่วยหลังรักษาจะได้รับการติดตามโดยแพทย์ผู้รักษา
เพื่อดูแลสุขภาพต่อไป การตรวจติดตามผลจะถี่หรือบ่อยเพียงใดขึ้นอยู่กับโรคและสภาพผู้ป่วยแต่สำคัญในช่วง
2 ปีแรกหลังการรักษา ซึ่งควรพบแพทย์ทุก 3 เดือน การติดตามผลโดยปกติจะใช้การตรวจร่างกาย
ตรวจเลือด เพื่อหาสารติดตามผลมะเร็งและอื่น ๆ เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
และการตรวจวินิจฉัยทางรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาระยะเวลาตามความเหมาะสม |
|
|
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทร. 0 7445 1469
-
ศูนย์มะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทร.
0 7445 1595 |
|
|
|