ภาพ
s__124166162.jpg
Login Form



สุขภาพจิตคนไทย

จากสถิติของกรมสุขภาพจิตเรื่องผู้ มาเข้ารับบริการผู้ป่วยใหม่ของภาครัฐคือในโรงพยาบาลจิตเวชนั้น ในช่วงปี 2553-2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 (จากตัวเลข 70,717 ราย เป็น 88,432 ราย) นั่นหมายถึงผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชจึงสามารถเข้า ถึงบริการได้ แต่หากมองอีกนัยหนึ่งก็เป็นไปได้ว่าเกิดจากโรคทางจิตเวชที่เพิ่มขึ้น

ส่วนสถิติจำนวนการฆ่าตัวตายของคนไทยต่อประชากร 100,000 คน พบว่าตั้งแต่ปี 2006-2010 อยู่ที่ 5.9 คนต่อประชากร 100,000 คนมาตลอด ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ลดลง นั่นแสดงว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ได้ดีขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ภาวะสุขภาพจิตคนไทยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ตาม สภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตคือ ชีวิตคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองหลักๆ ของไทย เราจะพบว่าวิถีชีวิตของคนเมืองมักเคร่งเครียด ต้องแข่งกับเวลาและแข่งขันกับคนอื่น อีกทั้งค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น ทำให้คนเมืองต้องแบกรับภาระต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้หลายๆ คนเกิดภาวะเครียด และบางรายไปหาทางออกที่ผิดๆ เช่น ดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติดเพื่อระบายความเครียด

 

ส่วนชีวิตคนต่างจังหวัด แม้ว่าค่าครองชีพสูงขึ้น แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องแข่งขันหรือชิงดีชิงเด่นกับใคร ใช้ชีวิตอยู่แบบพอเพียง อีกทั้งยังเป็นสังคมแบบไทยดั้งเดิม คือมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใกล้ชิดศาสนา ทำให้คนต่างจังหวัดมีภาวะความเครียดน้อยกว่าคนเมือง

 

ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นตัวกำหนดว่าสุขภาพจิตของคนไทยมีทิศทางเป็นอย่างไร คงต้องมองจากเรื่องใกล้ตัวในชีวิต ประจำวัน ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของปัจจัย 4 หรือชีวิตความเป็นอยู่นั่นเอง ปัญหาความเครียดเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ภาวะว่างงาน ปัญหาการเมือง ไม่มีที่อยู่อาศัย ปัญหาอาชญากรรมและสารเสพติด หากหลายๆ ฝ่ายช่วยกันทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นในทุกด้าน ย่อมส่งผลถึงความสุขของคนไทย ก็จะทำให้สุขภาพจิตของคนไทยดีขึ้นได้

 

โดยทั่วไปเราจะพบอุบัติการณ์การเกิดโรคทางจิตเวชประมาณร้อยละ 4 ของประชากร และพบว่าส่วนใหญ่เกิดในช่วงอายุ 18-25 ปี ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ในไทยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในปัจจุบันคือปัญหาด้านยาเสพติด ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสมองและทำให้เกิดอาการทางจิตได้ และเป็นไปได้ว่าในอนาคตผู้ป่วยทางจิตเวชจะเพิ่มขึ้นจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งน่าเป็นห่วงมากสำหรับอนาคตของประเทศไทย

 

คนไทยป่วยด้วยโรคทางจิตเวช 5 อันดับแรก ดังนี้ 1. โรคซึมเศร้า (Depression) 2. โรคจิตเภท (Schizophrenia) 3.โรควิตกกังวล (Anxiety) 4. โรคจิตเวชเนื่องมาจากสารเสพติด (Substance Induced Men tal Illness) 5.โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar Disorder)

 

แต่ปัจจุบันพบว่าปัญหาสุรายาเสพติดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสารเหล่านั้นมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองและทำให้เกิดโรคทางจิตเวชได้ อาทิ โรคจิต psychosis โรคความผิดปรกติของอารมณ์ Mood Disor der ซึ่งแนวโน้มของสังคมไทยเริ่มมีปัญหาโรคทางจิตเวชจากสารเสพติดเพิ่มขึ้น เรื่อยๆ ควรต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

 

วิธีการสังเกตว่ามีปัญหาด้านจิตเวชหรือไม่ควร เริ่มต้นสังเกตจากตัวเองก่อน เช่น นอน ไม่หลับ เบื่ออาหาร จิตใจหดหู่ หงุดหงิดง่าย เหม่อลอย ขาดสมาธิ หน้าที่การงานหรือการเรียนตกลง นั่นอาจแสดงว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะเครียด แต่ถ้าคนใกล้ชิดมีอาการผิดสังเกต เช่น นอนไม่หลับ เดินไปเดินมา พฤติกรรมแปลกๆ เช่น พูดคนเดียว หวาดระแวง เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นคนสดใสร่าเริง หรือในบางคนมีอารมณ์แปรปรวนง่าย บ่นอยากตาย นั่นอาจแสดงว่าคนใกล้ชิดของคุณน่าจะมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต

 

หากบุคคลใกล้ชิดเริ่มมีอาการเครียด วิตกกังวล ควรพูดคุยรับฟังปัญหาหรือพากันไปทำกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดความ เพลิดเพลิน แต่ถ้าความเครียดนั้นเกิดขึ้นในที่ทำงาน หรือเกิดจากงานประจำที่ทำ ควรหาเวลาพักผ่อนบ้าง เพื่อให้มีพลังมาต่อสู้กับงานต่อไปได้ แต่หากมีอาการมาก หงุดหงิด ก้าวร้าว พฤติกรรมเปลี่ยนไป ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัยรักษาต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข โดย นพ.กฤษกร สุขวัฒน์วิบูลย์